Wednesday, October 29, 2008

ช่องระบายอากาศ : กี่ช่องถึงจะดีที่สุด?

เวลาที่ท่านเห็นบ้านนกแอ่น ท่านจะเห็นบางบ้านมีช่องระบายอากาศมาก บางบ้านมีช่องระบายอากาศน้อย หรือบางบ้านไม่มีช่องระบายอากาศเลย อะไรคือจุดประสงค์ของการมีช่องระบายอากาศ ในทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวการไหลเวียนของอากาศภายในบ้านนกแอ่น อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า อุณหภูมิและความชื้นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการทำบ้านนกแอ่น

ปกติช่องระบายอากาศในบ้านนกแอ่นมักจะใช้ท่อ PVC ขนาด 4 นิ้ว สวมข้องอ 90 องศา หันหัวข้องอลงกับพื้นเพื่อป้องกันแสงสว่าง จำนวนของช่องระบายอากาศมีความสำคัญมาก หากมีช่องระบายน้อยเกินไป อุณหภูมิภายในบ้านนกแอ่นจะเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากมีช่องระบายอากาศมากเกินไป ความชื้นก็จะลดลง ลักษณะแบบนี้จึงเหมือนการเล่นกระดานหก จำนวนช่องระบายอากาศที่เหมาะสมควรจะมีจำนวนเท่าไหร่ และควรติดตั้งตรงจุดไหนบ้าง หากท่านสามารถติดตั้งช่องระบายอากาศได้สมบูรณ์ มีการเคลื่อนไหวการไหลเวียนของอากาศที่ดี จะทำให้ท่านไม่จำเป็นต้องติดตั้งระบบอื่นๆมากมายนัก เช่น สปริงเกอร์น้ำ พัดลมดูดอากาศ ปั๊มน้ำไหลเวียน ฯลฯ ท่านคงเคยได้ยินการกล่าวถึงบ้านนกแอ่นที่ประสบความสำเร็จสูงสุด ได้ผลผลิตรังนกแอ่นมากมายโดยไม่มีเครื่องช่วยใดๆ นอกจากมีสระน้ำ รางน้ำเพียงอย่างเดียว

หากการออกแบบหรือดัดแปลงบ้านนกแอ่นโดยคำนึงถึงจำนวนช่องระบายและจุดที่ติดตั้งช่องระบายอากาศเป็นไปอย่างดีเยี่ยม จะช่วยลดความกังวลความปวดหัวของท่าน ลดขั้นตอนที่จุกจิกของระบบระบายความร้อนระบบความชื้นภายในบ้านนกแอ่น การเคลื่อนไหวการไหลเวียนของอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จและความล้มเหลวของบ้านนกแอ่น

การที่ท่านต้องเพิ่มอุปกรณ์ต่างๆเพื่อช่วยให้อุณหภูมิและความชื้นในบ้านนกแอ่นสมบูรณ์ขึ้น ยิ่งมากชิ้นก็ยิ่งเพิ่มการบำรุงรักษาเพิ่มค่าใช้จ่าย อุปกรณ์ทุกตัวที่ใช้ย่อมมีการสึกหรอตามการเวลา ท่านลดอุปกรณ์ได้มากเท่าไหร่ท่านก็ประหยัดได้มากขึ้น

ช่องระบายอากาศช่วยดึงอากาศที่สดชื่นจากภายนอกเข้าสู่ภายในบ้านนกแอ่น ขณะเดียวกันก็ช่วยระบายกลิ่นเหม็น กลิ่นฉุน กลิ่นอับของขี้นกบางส่วนภายในบ้านนกแอ่นออกไป ถ้าระบบช่องระบายอากาศภายในบ้านนกแอ่นดี อากาศภายนอกสามารถเข้ามาได้ อากาศภายในก็สามารถระบายออกได้ บ้านนกแอ่นที่ดีคือบ้านนกแอ่นที่มีระบบไหลเวียนของอากาศที่ดีนั่นเอง

ในทางปฏิบัติช่องระบายอากาศควรติดตั้งระดับไหน ต่ำจากเพดานลงมาเท่าไหร่ ควรมีจำนวนกี่ช่อง ด้านขวาและด้านซ้ายของตัวบ้านควรมีกี่ช่อง กรณีของบ้านนกแอ่นแบบโดดเดี่ยว ด้านหน้าและด้านหลังควรมีกี่ช่อง กรณีของบ้านนกแอ่นแบบตึกแถวดัดแปลงปรับปรุง สำหรับท่านที่มีบ้านนกแอ่นอยู่แล้ว ลองไปสำรวจดูว่าบ้านนกแอ่นของท่านมีช่องระบายอากาศอย่างเพียงพอหรือไม่ ถ้าอุณหภูมิภายในบ้านนกแอ่นของท่านยังสูงอยู่ การเพิ่มช่องระบายอากาศจะช่วยลดอุณหภูมิลงได้อย่างแน่นอน ท่านลองไปทำการบ้านดู ว่าจะเพิ่มช่องระบายอากาศอย่างไรโดยไม่รบกวนนกแอ่นมากนัก หากท่านไม่สามารถแก้ไขได้จริงด้วยการเพิ่มช่องระบายอากาศ ระบบต่อไปที่ท่านต้องพึ่งพาก็คือ พัดลมดูดอากาศ เครื่องทำความชื้น สปริงเกอร์น้ำ ฯลฯ

การติดตั้งช่องระบายอากาศให้ติดตั้งมากเข้าไว้ดีกว่า ถ้าความชื้นภายในบ้านนกแอ่นลดลง เราสามารถที่จะอุดหรือปิดช่องระบายอากาศทีละช่องเพื่อควบคุมความชื้นได้ หากติดตั้งช่องระบายอากาศน้อยเกินไป อุณหภูมิภายในบ้านนกแอ่นเพิ่มขึ้น การจะเพิ่มช่องระบายอีกในตอนหลังจึงยุ่งยากกว่าการทำไว้ตั้งแต่เริ่มต้น ส่วนจำนวนช่องระบายอากาศนั้น ให้คำนวณแบบง่ายๆ 1 เมตร ต่อ 1 ช่องระบายอากาศ แถวบนให้ต่ำลงมาจากเพดานประมาณ 50 เซนติเมตร แถวล่างให้สูงจากพื้นขึ้นมาประมาณ 100 เซนติเมตร

จากภาพข้างบนเป็นเพียงตัวอย่างให้ท่านนำไปดัดแปลงประยุกต์ใช้ตามความถนัดและทักษะที่ท่านมีอยู่ เป็นภาพจากบ้านนกแอ่นของผมที่ทำอยู่บนดาดฟ้าชั้นที่ 8 ของตึกโรงแรม ดาดฟ้าถือเป็นส่วนที่รับความร้อนมากที่สุด ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นยากที่สุด ช่องระบายอากาศจึงช่วยได้มากที่สุด นกแอ่นเข้าอยู่อาศัยเกินเป้าที่วางไว้อย่างเหลือเชื่อในปีแรก

นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์

No comments:

แนะนำแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดยะลา

แนะนำแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดยะลา
ยะลา หรือ ยะลอ แปลว่า "แห" เดิมเป็นหนึ่งในเจ็ดหัวเมืองตอนใต้ ขึ้นอยู่กับมณฑลปัตตานี ต่อมาได้ประกาศเป็นจังหวัด ตามระเบียบบริหารการปกครองใหม่เมื่อปี 2476 ปัจจุบันจังหวัดยะลามีพื้นที่ 4,521.077 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็น 8 อำเภอ 58 ตำบล 376 หมู่บ้าน มีอำเภอเมือง อำเภอรามัน อำเภอยะหา อำเภอบันนังสตา อำเภอเบตง อำเภอธารโต อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลาตั้งอยู่ตอนใต้สุดของประเทศไทย ดั่งคำขวัญที่ว่า "ยะลา : ใต้สุดสยามเมืองงามชายแดน" อยู่ห่างจากกรุงเทพฯโดยทางรถไฟประมาณ 1,039 กิโลเมตร หรือโดยทางรถยนต์ตามถนนเพชรเกษมประมาณ 1,440 กิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีผังเมืองสวยงามแห่งหนึ่งของประเทศไทย

หลักเมืองยะลา

หลักเมืองยะลา
หลักเมืองยะลาสร้างขึ้นจากแนวความคิดของ พ.ต.อ.ศิริ คชหิรัญ ครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาร่วมกับบรรดาข้าราชการซึ่งมีความเห็นตรงกันว่าเดิมจังหวัดยะลาเป็นอาณาเขตหนึ่งในบริเวณ 7 หัวเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดปัตตานี เพิ่งแยกออกเป็นเมืองหนึ่งต่างหากในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (ในสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ. 2335) ที่ตั้งตัวเมืองยะลาเดิมมิได้อยู่ในที่ปัจจุบัน แต่ได้โยกย้ายมาแล้วถึง 4 ครั้งด้วยกัน ด้วยเหตุดังกล่าวท่านจึงให้ข้าราชการและประชาชนชาวจังหวัดยะลาได้พร้อมใจกันสร้างหลักเมืองขึ้นที่บริเวณศูนย์วงเวียนหน้าศาลากลางจังหวัดโดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504 เวลา 10.30 น. ปัจจุบันหลักเมืองยะลาเป็นศูนย์กลางของเมืองยะลา ทั้งนี้เนื่องจากผังเมืองยะลาได้ออกแบบไว้เหมาะเจาะกันพอดีรอบๆวงเวียนหลักเมือง อันเป็นวงเวียนชั้นในสุดเป็นที่ทำการของส่วนราชการต่างๆ ได้แก่ ศาลากลางจังหวัด ศาลจังหวัด กองกำกับการตำรวจภูธร สำนักงานที่ดิน สำนักงานเกษตร สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และที่ว่าการอำเภอเมืองยะลา บรรดาถนนทุกสายที่มาจากอำเภอต่างๆของจังหวัดจะมารวมกันที่หลักเมือง

วัดคูหาภิมุข

วัดคูหาภิมุข
ถ้ำคูหาภิมุขตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง ไปตามเส้นทางยะลา-หาดใหญ่ ประมาณ 7 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายเข้าวัดอีก 1 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุที่สำคัญคือ พระพุทธไสยาสน์ สร้างสมัยศรีวิชัยประมาณ 1,300 ปีเศษ ภายในมีถ้ำต่างๆเช่น ถ้ำมืด ถ้ำ ภปร. มีหินงอกหินย้อย และหยดน้ำไหลรินจากโขดหินสวยงามยิ่งนัก หยดเกร็ดเพชรระยิบระยับตา ซึ่งในปี 2539 ถ้ำคูหาภิมุขได้รับรางวัลการประกวดแหล่งท่องเที่ยวประเภทธรรมชาติของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

พระมหากัจจายนะ

พระมหากัจจายนะ
พระมหากัจจายนะ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2505 ประดิษฐานอยู่ภายในวัดเมืองยะลา อยู่กลางแจ้งภายในวัด องค์ใหญ่สวยงาม หากหมั่นทำความดีเมื่อมาขอพรจากท่านมักจะประสบความสำเร็จ อยู่ห่างจากศาลากลางไปทางถนนสุขยางค์ทางออกมุ่งสู่อำเภอเบตงประมาณ 1 กิโลเมตร อยู่ด้านขวามือตรงข้ามกับโรงเรียนตำรวจภูธร 9 (กองบัญชาการส่วนหน้า)

วัดพุทธาธิวาส

วัดพุทธาธิวาส
พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ ตั้งอยู่ ณ วัดพุทธาธิวาส ถนนรัตนกิจ ในตัวเมืองเบตง โดยตัวเจดีย์ตั้งอยู่บนเนินเขามีขนาดความกว้าง 39 เมตร สูง 39.9 เมตร หรือขนาดความสูงเทียบเท่าตึก 13 ชั้น เป็นมหาธาตุเจดีย์ที่สวยงามและขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ เป็นศิลปกรรมแบบศรีวิชัยประยุกต์ มหาเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นจากความคิดและการดำเนินการของอดีตประธานศาลฏีกา นายสวัสดิ์ โชติพานิช เพื่อเฉลิมฉลองและถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา

เขื่อนบางลาง

เขื่อนบางลาง
เขื่อนบางลางในระหว่างการเดินทางด้วยรถยนต์จากตัวเมืองยะลาสู่อำเภอเบตง บนเส้นทางหลวงสายยะลา-เบตง สามารถแวะชมทัศนียภาพอันสวยงามของเขื่อนบางลางได้ที่บ้านบางลาง ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา ซึ่งห่างจากตัวเมืองยะลา 58 กิโลเมตร และเข้าไปในตัวเขื่อนอีกประมาณ 12.5 กิโลเมตร ตัวเขื่อนบางลางสร้างปิดกั้นแม่น้ำปัตตานี ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ที่ทิวเขาสันกาลาคีรี สันปันน้ำระหว่างไทยกับมาเลเซียในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ด้วยฝีไม้ลายมือมนุษย์ทำให้พื้นที่บริเวณเหนือเขื่อน กลายสภาพเป็นทะเลสาปน้ำจืดกลางหุบเขาขนาดใหญ่ซึ่งล้อมรอบไปด้วยความเขียวขจีจากพันธุ์พืชพันธุ์ไม้นานาชนิดและภูเขาน้อยใหญ่ที่ทอดตัวเรียงรายสลับซับซ้อนโอบล้อมอยู่ ทิวทัศน์ที่สวยงามเช่นนี้ มีอาคารบ้านพักตากอากาศ ห้องจัดประชุม ร้านอาหาร สนามเทนนิส สนามเปตอง สนามกอล์ฟ สนามฟุตบอล แพล่องชมทัศนียภาพ ไว้บริการให้ความสะดวกแก่ผู้มาเยือน จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นทางเลือกในการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจอีกแห่งหนึ่ง นอกจากจะเหมาะต่อการท่องเที่ยวแล้วเขื่อนบางลางยังคงคุณสมบัติของเขื่อนเอนกประสงค์ตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแห่งแรกในภาคใต้ไว้ได้เช่นเดิมคือ ช่วยในการป้องกันอุทกภัย การชลประทาน การผลิตกระแสไฟฟ้าและการประมง (สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม,ติดต่อบ้านพักโทรฯ 0-7329-9237-8, 0-7329-7099 ล่องเรือหรือแพชมทิวทัศน์ทะเลสาปเหนือเขื่อน โทรฯ 0-7328-1063-66 ต่อ 2291)

วิถีชีวิตของชาวบ้านรอบๆเมืองยะลา

วิถีชีวิตของชาวบ้านรอบๆเมืองยะลา
ยะลาเป็นเมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีธรรมชาติที่สวยงามอุดมสมบูรณ์ ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดำเนินตามรอยพระบาทชีวิตความเป็นอยู่แบบพอเพียง มีอาหารการกินที่หลากหลายทั้ง ไทย จีน มุสลิม ผู้คนรักใคร่กลมเกลียว เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความวุ่นวายทั้งหลายที่เกิดเป็นเพียงภาพลวงตา อีกไม่นานก็จะหายไป เพราะเขาเองก็เบื่อเต็มทนแล้วเพราะตั้งแต่วันแรกที่หลงผิดชีวิตยังหาความสุขไม่ได้ จะขอกลับมาเป็นคนดีของสังคมเร็วๆนี้

อานิสงส์และบุญกุศลใดๆ

อานิสงส์ใดๆที่เกิดขึ้นจากการได้มีโอกาสเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ ข่าวสารและวิชาการเกี่ยวกับการเลี้ยงและทำบ้านนกแอ่น ขอมอบแด่ คุณพ่อสุนันท์-คุณแม่อำนวย อริยะพันธุ์ พี่กัญญา ศรีสวัสดิ์และครอบครัว พี่ดวงพร เพชรโชติและครอบครัว น้องนิชา สุตะเมืองและครอบครัว คุณอ้อย(ภรรยา) น้องหนึ่ง(ลูกชาย) น้องฟรังก์(ลูกสาว) น้องดิว(ลูกสะใภ้) น้องพีร์(หลานชาย) ตลอดจนคณาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประศาสตร์วิชาความรู้ให้แก่ศิษย์โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ขอบุญกุศลแห่งวิทยาทานทั้งหมดที่ข้าพเจ้าได้กระทำจงมีแด่ทุกท่านที่ข้าพเจ้าได้เคยรู้จักและเกี่ยวข้อง ให้ประสพแต่ความสุข ความเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฎิภานธนสารสมบัติทุกประการเทอญ เทพชัย อริยะพันธุ์