Friday, April 24, 2009

ลูกนกแอ่นของท่านจะย้ายไปอยู่บ้านอื่นหรือไม่?

บทความนี้ก็เป็นอีกหนึ่งความกังวลของผู้ทำบ้านนกแอ่น กังวลว่าเมื่อบ้านนกแอ่นเริ่มมีนกแอ่นเข้าอยู่อาศัย เริ่มมีรังนกแอ่น เริ่มมีลูกนกแอ่นที่เกิดจากบ้านนกแอ่นหลังนี้ กังวลว่าลูกนกแอ่นที่เกิดใหม่เหล่านี้จะย้ายไปอยู่ที่อื่น เหมือนอย่างที่เราเองเคยเรียกให้ลูกนกแอ่นใหม่จากบ้านอื่นๆเข้ามาอยู่อาศัยในบ้านกแอ่นใหม่ของเรา ก็กังวลกันได้ในเมื่อไม่รู้ ไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้ แต่ต่อไปนี้ท่านจะไม่ต้องกังวลอีกต่อไป

ความจริงเรื่องการย้ายถิ่นที่อยู่ของนกแอ่น

นกแอ่นจะย้ายถิ่นต้องเกิดจากผลกระทบที่รุนแรงจริงๆ เช่น เคยมีข่าวเมื่อหลายปีก่อนว่านกแอ่นอพยพหนีจากอินโดนีเซียเข้าสู่ประเทศมาเลยเซียและประเทศไทยจำนวนหลายล้านตัว เนื่องจากเกิดไฟไม้ป่าหลายครั้ง กินบริเวณพื้นที่ป่าไม้มากมาย หมอกควันปกคลุมไปทั่วทุกพื้นที่ ทำให้แมลงที่เป็นอาหารของนกแอ่นลดลงจนนกแอ่นไม่สามารถหาอาหารได้อย่างเพียงพอ นกแอ่นจึงอพยพ นกแอ่นย้ายถิ่นแบบนี้พวกเราคงชอบใจ คงนึกในใจถ้าจะเกิดไฟใหม้ป่าที่อินโดนีเซียอีกหลายๆครั้งก็ดี ข้อมูลนี้เท็จจริงเป็นอย่างไรผมไม่สามารถยืนยันได้ แต่เคยเป็นข่าวให้งุนงงสงสัย

ส่วนข้อกังวลเรื่องลูกนกแอ่นของท่านจะย้ายไปอยู่บ้านนกแอ่นอื่นหรือไม่นั้น ความจริงจะเป็นดังนี้ ลูกนกแอ่นจะไม่ย้ายไปอยู่ที่ไหน ตราบใดที่บ้านนกแอ่นเดิมยังมีพื้นที่ว่างอย่างเพียงพอ มีเงื่อนไขที่นกแอ่นชื่นชอบครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการ ลูกนกแอ่นจะอยู่อาศัยที่บ้านนกแอ่นเดิม จะช่วยกันสร้างกลุ่มขยายพันธุ์ให้ใหญ่โตขึ้น กลุ่มยิ่งใหญ่โตยิ่งรู้สึกปลอดภัย จะขยายพันธุ์จนกว่าบ้านนกแอ่นของท่านไม่สามารถรองรับจำนวนนกแอ่นที่เพิ่มขึ้นได้ เมื่อถึงเวลานั้นท่านเองก็ต้องทำใจ เพราะท่านจะเริ่มเป็นผู้เอื้อเฟื้อ แบ่งปันลูกนกแอ่นจากบ้านนกแอ่นของท่านให้แก่บ้านนกแอ่นใหม่หลังอื่นๆ

การจะดูว่าบ้านนกแอ่นของท่านจะรองรับจำนวนนกแอ่นได้เท่าไหร่ จะเริ่มแบ่งปันลูกนกแอ่นให้บ้านนกแอ่นใหม่หลังอื่นๆเมื่อไหร่ วิธีคำนวณแบบง่ายๆ คือ พื้นที่ 1 ตารางเมตร สามารถรองรับรังนกแอ่นได้ประมาณ 100 รัง เท่ากับรองรับคู่นกแอ่นได้ 100 คู่ หรือ 200 ตัว ถ้าบ้านนกแอ่นของท่านมีพื้นที่ทั้งหมด 200 ตารางเมตร ท่านก็สามารถรองรับรังนกแอ่นได้ 20,000 รัง เท่ากับรองรับคู่นกแอ่นได้ 20,000 คู่ หรือ 40,000 ตัว ท่านก็ลองคำนวณดูเองเล่นๆว่าบ้านนกแอ่นของท่านมีพื้นที่ทั้งหมดเท่าไหร่ จะรองรับจำนวนนกแอ่นได้เท่าไหร่ คิดเล่นๆแก้เซ็งอย่าไปจริงจังมากนักเดี๋ยวจะเครียด

คงจะคลายความกังวลของท่านได้มาก ลูกนกแอ่นของท่านจะยังคงอยู่กับบ้านนกแอ่นของท่านไปจนกว่าบ้านนกแอ่นของท่านจะเต็มจริงๆ

นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์

ปีแรก 1 คู่ ปีที่ 10 จะเป็น 786,432 คู่

มีท่านผู้อ่านหลายท่านที่เพิ่งทำบ้านนกแอ่นใหม่และเป็นกังวลกับจำนวนนกแอ่นที่เพิ่งเข้าอยู่อาศัย ว่ามีจำนวนน้อย เพิ่มจำนวนช้า เห็นบินมาวนมาตอมลำโพงเสียงเรียกนอกมากมายแต่ทำไมไม่เข้าอยู่อาศัยทั้งหมด การทำบ้านนกแอ่นก็เป็นเช่นนี้แหละ ต้องมีความอดทน ต้องรอคอย นกแอ่นที่บินมาตอมลำโพงเสียงนอกและบินเข้าสำรวจภายในบ้าน อาจเป็นนกแอ่นที่มีที่อยู่อาศัยถาวรแล้ว แต่ด้วยนิสัยของนกแอ่นที่ชอบสำรวจ และด้วยเสียงเรียกนกแอ่นที่มีคุณภาพ ดึงดูดให้นกแอ่นต้องยอมคล้อยตามเสียงเรียก ส่วนลูกนกแอ่นใหม่ที่ยังไม่โตเต็มวัยและบินตามฝูงมาด้วย ก็ได้มีโอกาสสำรวจบ้านนกแอ่นใหม่ของท่านด้วย ถ้าบ้านที่อยู่เดิมเริ่มคับแคบและบ้านที่เพิ่งสำรวจพบใหม่มีเงื่อนไขที่ดีกว่า ลูกนกแอ่นใหม่เหล่านี้ก็จะตัดสินใจได้ง่าย ท่านก็มีโอกาสได้ลูกนกแอ่นใหม่เหล่านี้ การทำบ้านนกแอ่นจึงอยู่ที่การทำบ้านนกแอ่นให้ได้ตามเงื่อนไขที่นกแอ่นชื่นชอบทุกประการ (Microhabitat)

การเรียกคู่นกแอ่นคู่แรกให้เข้าอยู่อาศัยและยอมรับเงื่อนไขภายในของบ้านนกแอ่น การเห็นรังนกแอ่นรังแรกจนกระทั่งเห็นลูกนกแอ่นจากรังแรก จึงถือเป็นความสำเร็จในการทำบ้านนกแอ่น ส่วนการจะวัดความสำเร็จระดับต่างๆ จึงขึ้นอยู่กับท่านว่าท่านให้ความสำคัญกับระดับความสำเร็จอย่างไร แต่จะอย่างไรก็ตามขอเรียนยืนยันกับท่านอีกครั้งว่า ถ้าท่านทำบ้านนกแอ่นของท่านได้สมบูรณ์ตรงตามเงื่อนไขที่นกแอ่นชื่นชอบทุกประการ นกแอ่นคู่แรกได้เข้าอยู่อาศัยและทำรังจนเห็นลูกนกแอ่นจากรังแรกแน่นอน ข้อมูลต่อไปนี้จะทำให้ท่านพอคลายความกังวลได้บ้าง อันที่จริงก็เคยนำเสนอไปแล้ว แต่ไม่เป็นไรจะช่วยเน้นย้ำคลายความกังวลให้ท่าน ข้อมูลนี้อยู่บนพื้นฐานว่านกแอ่นผสมพันธุ์ 3 รอบใน 1 ปี, เฉลี่ย 4 เดือนต่อ 1 รอบ, ใน 1 รอบ ได้ลูกนกแอ่น 2 ตัว, 1 ปี 3 รอบ ได้ลูกนกแอ่น 6 ตัว, เท่ากับ 1 ปี เพิ่ม 3 เท่า (คูณ 3 ทุกปี) แล้วบวกกับตัวต้นที่เรา x 3 ทุกปี

ปีที่ 1 : 1 คู่ x 3 = 3 คู่
ปีที่ 2 : 4 คู่ x 3 =12 คู่
ปีที่ 3 : 16 คู่ x 3 = 48 คู่
ปีที่ 4 : 64 คู่ x 3 = 192 คู่
ปีที่ 5 : 256 คู่ x 3 = 768 คู่
ปีที่ 6 : 1,024 คู่ x 3 = 3,072 คู่
ปีที่ 7 : 4,096 คู่ x 3 = 12,288 คู่
ปีที่ 8 : 16,384 คู่ x 3 = 49,152 คู่
ปีที่ 9 : 65,536 คู่ x 3 = 196,608 คู่
ปีที่ 10 : 262,144 คู่ x 3 = 786,432 คู่

จากข้อมูลที่แสดงจะเห็นว่า แม้เพียงปีแรกจะมีนกแอ่นเข้าอยู่อาศัยเพียง 1 คู่ และขยายพันธุ์ตามธรรมชาติของนกแอ่น เมื่อสิ้นปีที่ 10 จะมีจำนวนนกแอ่นถึง 786,432 คู่ ตัวเลขอาจจะไม่ต้องขนาดนี้ท่านก็ยิ้มได้แล้ว ส่วนใหญ่บ้านนกแอ่นใหม่ที่ทำได้สมบูรณ์เพียงปีแรกก็สามารถดึงดูดนกแอ่นได้มากกว่า 1 คู่ อยู่แล้ว ท่านก็ลองไปคิดคำนวณเอาเอง ดังนั้นการทำบ้านนกแอ่นจึงต้องมีการรอคอย มีความอดทน มีบุญมีโชคมากบวกบ้าง และที่สำคัญต้องหมั่นทำความดี ผมคงไม่ต้องบอกท่านนะว่าความดีทำอย่างไร (อิ อิ)

สำหรับบ้านนกแอ่นของท่านที่มีนกแอ่นเข้าอยู่อาศัยแล้วจะมากจะน้อย จะช้าจะเร็ว ก็อย่าได้กังวลใจมากนัก ตราบใดที่นกแอ่นเข้าอยู่อาศัยแล้ว นกแอ่นสามารถขยายเผ่าพันธุ์ ลูกนกแอ่นสามารถอยู่รอดปลอดภัยได้ ไม่มีศัตรูคอยรบกวน พ่อแม่นกแอ่นจะเริ่มมั่นใจและเร่งขยายเผ่าพันธุ์ต่อไป วัดวาอาราม โรงหนังเก่าทิ้งร้าง ตึกร้าง โรงงานร้าง นกแอ่นยังอาศัยอยู่ได้มากมาย บ้านนกแอ่นของท่านลงทุนทำมาอย่างดี ย่อมต้องประสพความสำเร็จแน่นอน

ขอให้ทุกท่านโชคดี

นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์

แนะนำแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดยะลา

แนะนำแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดยะลา
ยะลา หรือ ยะลอ แปลว่า "แห" เดิมเป็นหนึ่งในเจ็ดหัวเมืองตอนใต้ ขึ้นอยู่กับมณฑลปัตตานี ต่อมาได้ประกาศเป็นจังหวัด ตามระเบียบบริหารการปกครองใหม่เมื่อปี 2476 ปัจจุบันจังหวัดยะลามีพื้นที่ 4,521.077 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็น 8 อำเภอ 58 ตำบล 376 หมู่บ้าน มีอำเภอเมือง อำเภอรามัน อำเภอยะหา อำเภอบันนังสตา อำเภอเบตง อำเภอธารโต อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลาตั้งอยู่ตอนใต้สุดของประเทศไทย ดั่งคำขวัญที่ว่า "ยะลา : ใต้สุดสยามเมืองงามชายแดน" อยู่ห่างจากกรุงเทพฯโดยทางรถไฟประมาณ 1,039 กิโลเมตร หรือโดยทางรถยนต์ตามถนนเพชรเกษมประมาณ 1,440 กิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีผังเมืองสวยงามแห่งหนึ่งของประเทศไทย

หลักเมืองยะลา

หลักเมืองยะลา
หลักเมืองยะลาสร้างขึ้นจากแนวความคิดของ พ.ต.อ.ศิริ คชหิรัญ ครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาร่วมกับบรรดาข้าราชการซึ่งมีความเห็นตรงกันว่าเดิมจังหวัดยะลาเป็นอาณาเขตหนึ่งในบริเวณ 7 หัวเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดปัตตานี เพิ่งแยกออกเป็นเมืองหนึ่งต่างหากในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (ในสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ. 2335) ที่ตั้งตัวเมืองยะลาเดิมมิได้อยู่ในที่ปัจจุบัน แต่ได้โยกย้ายมาแล้วถึง 4 ครั้งด้วยกัน ด้วยเหตุดังกล่าวท่านจึงให้ข้าราชการและประชาชนชาวจังหวัดยะลาได้พร้อมใจกันสร้างหลักเมืองขึ้นที่บริเวณศูนย์วงเวียนหน้าศาลากลางจังหวัดโดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504 เวลา 10.30 น. ปัจจุบันหลักเมืองยะลาเป็นศูนย์กลางของเมืองยะลา ทั้งนี้เนื่องจากผังเมืองยะลาได้ออกแบบไว้เหมาะเจาะกันพอดีรอบๆวงเวียนหลักเมือง อันเป็นวงเวียนชั้นในสุดเป็นที่ทำการของส่วนราชการต่างๆ ได้แก่ ศาลากลางจังหวัด ศาลจังหวัด กองกำกับการตำรวจภูธร สำนักงานที่ดิน สำนักงานเกษตร สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และที่ว่าการอำเภอเมืองยะลา บรรดาถนนทุกสายที่มาจากอำเภอต่างๆของจังหวัดจะมารวมกันที่หลักเมือง

วัดคูหาภิมุข

วัดคูหาภิมุข
ถ้ำคูหาภิมุขตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง ไปตามเส้นทางยะลา-หาดใหญ่ ประมาณ 7 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายเข้าวัดอีก 1 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุที่สำคัญคือ พระพุทธไสยาสน์ สร้างสมัยศรีวิชัยประมาณ 1,300 ปีเศษ ภายในมีถ้ำต่างๆเช่น ถ้ำมืด ถ้ำ ภปร. มีหินงอกหินย้อย และหยดน้ำไหลรินจากโขดหินสวยงามยิ่งนัก หยดเกร็ดเพชรระยิบระยับตา ซึ่งในปี 2539 ถ้ำคูหาภิมุขได้รับรางวัลการประกวดแหล่งท่องเที่ยวประเภทธรรมชาติของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

พระมหากัจจายนะ

พระมหากัจจายนะ
พระมหากัจจายนะ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2505 ประดิษฐานอยู่ภายในวัดเมืองยะลา อยู่กลางแจ้งภายในวัด องค์ใหญ่สวยงาม หากหมั่นทำความดีเมื่อมาขอพรจากท่านมักจะประสบความสำเร็จ อยู่ห่างจากศาลากลางไปทางถนนสุขยางค์ทางออกมุ่งสู่อำเภอเบตงประมาณ 1 กิโลเมตร อยู่ด้านขวามือตรงข้ามกับโรงเรียนตำรวจภูธร 9 (กองบัญชาการส่วนหน้า)

วัดพุทธาธิวาส

วัดพุทธาธิวาส
พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ ตั้งอยู่ ณ วัดพุทธาธิวาส ถนนรัตนกิจ ในตัวเมืองเบตง โดยตัวเจดีย์ตั้งอยู่บนเนินเขามีขนาดความกว้าง 39 เมตร สูง 39.9 เมตร หรือขนาดความสูงเทียบเท่าตึก 13 ชั้น เป็นมหาธาตุเจดีย์ที่สวยงามและขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ เป็นศิลปกรรมแบบศรีวิชัยประยุกต์ มหาเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นจากความคิดและการดำเนินการของอดีตประธานศาลฏีกา นายสวัสดิ์ โชติพานิช เพื่อเฉลิมฉลองและถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา

เขื่อนบางลาง

เขื่อนบางลาง
เขื่อนบางลางในระหว่างการเดินทางด้วยรถยนต์จากตัวเมืองยะลาสู่อำเภอเบตง บนเส้นทางหลวงสายยะลา-เบตง สามารถแวะชมทัศนียภาพอันสวยงามของเขื่อนบางลางได้ที่บ้านบางลาง ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา ซึ่งห่างจากตัวเมืองยะลา 58 กิโลเมตร และเข้าไปในตัวเขื่อนอีกประมาณ 12.5 กิโลเมตร ตัวเขื่อนบางลางสร้างปิดกั้นแม่น้ำปัตตานี ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ที่ทิวเขาสันกาลาคีรี สันปันน้ำระหว่างไทยกับมาเลเซียในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ด้วยฝีไม้ลายมือมนุษย์ทำให้พื้นที่บริเวณเหนือเขื่อน กลายสภาพเป็นทะเลสาปน้ำจืดกลางหุบเขาขนาดใหญ่ซึ่งล้อมรอบไปด้วยความเขียวขจีจากพันธุ์พืชพันธุ์ไม้นานาชนิดและภูเขาน้อยใหญ่ที่ทอดตัวเรียงรายสลับซับซ้อนโอบล้อมอยู่ ทิวทัศน์ที่สวยงามเช่นนี้ มีอาคารบ้านพักตากอากาศ ห้องจัดประชุม ร้านอาหาร สนามเทนนิส สนามเปตอง สนามกอล์ฟ สนามฟุตบอล แพล่องชมทัศนียภาพ ไว้บริการให้ความสะดวกแก่ผู้มาเยือน จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นทางเลือกในการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจอีกแห่งหนึ่ง นอกจากจะเหมาะต่อการท่องเที่ยวแล้วเขื่อนบางลางยังคงคุณสมบัติของเขื่อนเอนกประสงค์ตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแห่งแรกในภาคใต้ไว้ได้เช่นเดิมคือ ช่วยในการป้องกันอุทกภัย การชลประทาน การผลิตกระแสไฟฟ้าและการประมง (สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม,ติดต่อบ้านพักโทรฯ 0-7329-9237-8, 0-7329-7099 ล่องเรือหรือแพชมทิวทัศน์ทะเลสาปเหนือเขื่อน โทรฯ 0-7328-1063-66 ต่อ 2291)

วิถีชีวิตของชาวบ้านรอบๆเมืองยะลา

วิถีชีวิตของชาวบ้านรอบๆเมืองยะลา
ยะลาเป็นเมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีธรรมชาติที่สวยงามอุดมสมบูรณ์ ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดำเนินตามรอยพระบาทชีวิตความเป็นอยู่แบบพอเพียง มีอาหารการกินที่หลากหลายทั้ง ไทย จีน มุสลิม ผู้คนรักใคร่กลมเกลียว เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความวุ่นวายทั้งหลายที่เกิดเป็นเพียงภาพลวงตา อีกไม่นานก็จะหายไป เพราะเขาเองก็เบื่อเต็มทนแล้วเพราะตั้งแต่วันแรกที่หลงผิดชีวิตยังหาความสุขไม่ได้ จะขอกลับมาเป็นคนดีของสังคมเร็วๆนี้

อานิสงส์และบุญกุศลใดๆ

อานิสงส์ใดๆที่เกิดขึ้นจากการได้มีโอกาสเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ ข่าวสารและวิชาการเกี่ยวกับการเลี้ยงและทำบ้านนกแอ่น ขอมอบแด่ คุณพ่อสุนันท์-คุณแม่อำนวย อริยะพันธุ์ พี่กัญญา ศรีสวัสดิ์และครอบครัว พี่ดวงพร เพชรโชติและครอบครัว น้องนิชา สุตะเมืองและครอบครัว คุณอ้อย(ภรรยา) น้องหนึ่ง(ลูกชาย) น้องฟรังก์(ลูกสาว) น้องดิว(ลูกสะใภ้) น้องพีร์(หลานชาย) ตลอดจนคณาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประศาสตร์วิชาความรู้ให้แก่ศิษย์โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ขอบุญกุศลแห่งวิทยาทานทั้งหมดที่ข้าพเจ้าได้กระทำจงมีแด่ทุกท่านที่ข้าพเจ้าได้เคยรู้จักและเกี่ยวข้อง ให้ประสพแต่ความสุข ความเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฎิภานธนสารสมบัติทุกประการเทอญ เทพชัย อริยะพันธุ์