ก่อนอื่นเรามารู้จักนกแอ่นกันเสียก่อนน่าจะเป็นการดีที่สุด เดิมเรียกกันอย่างกว้างขวางว่านกอีแอ่น ซึ่งรวมเอานกสองกลุ่มที่แตกต่างกันอย่างมากเข้าไว้ด้วยกัน ก็คือ swift และ swiftlet กับนกอีแอ่นประเภท swallow และ martin ที่มีรูปลักษณ์ภายนอกและท่าทางในการบินคล้ายกัน ข้อแตกต่างที่สำคัญบางประการ เช่น นกประเภทแรกมีตีนที่กำไม่ได้ จึงไม่อาจเกาะกิ่งไม้หรือสายไฟได้ดังนกประเภทหลัง มันจะใช้ตีนเกี่ยวไว้ได้เท่านั้น และนกประเภทแรกยังมีปีกรูปทรงยาวเรียว ดูคล้ายกับเคียวเกี่ยวข้าว ต่อมาคนไทยในยุคสมัยหนึ่งเกิดความรังเกียจคำว่า "อี" ขึ้นมา โดยหาว่าเป็นคำไม่สุภาพ ทำให้สัตว์นานาชนิดที่คำว่า "อี" นำหน้าต้องถูกถอดออกหรือเปลี่ยนเป็น "นาง" ที่ฟังดูสุภาพกว่า ด้วยเหตุดังกล่าว จึงได้กลายเป็นนกแอ่น (swift และ swiftlet) กับนกนางแอ่น (swallow และ martin) ในปัจจุบัน
นกนางแอ่นกินรังเดิมจัดอยู่ในสกุล Collocalia และต่อมาเปลี่ยนเป็นสกุล Aerodramus เนื่องจากมีความสามารถในการเปล่งคลื่นเสียงออกมาใช้ในการบินในถ้ำได้ มีอยู่ด้วยกัน 26 ชนิด มีการกระจายตั้งแต่เกาะในด้านทิศตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย ทั่วทั้งบริเวณตอนใต้ของทวีปเอเซียถึงประเทศฟิลิปปินส์ กลุ่มเกาะอินโด-ออสเตรเลีย จนถึงประเทศออสเตรเลียตอนเหนือและหมู่เกาะแปซิฟิกตะวันตกและหมู่เกาะแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ ขนาดลำตัวยาวประมาณ 7.5-13 เซนติเมตร มีปีกยาว 110-118 มิลลิเมตร น้ำหนักตัว 8-9.5 กรัม ขนลำตัวมักมีสีน้ำตาลคล้ำด้านๆ จนถึงสีดำเป็นมัน ปีกยาวปลายแหลม เหมาะแก่การหากินในอากาศ หางสั้นปลายตัดหรือแยกเป็นสองแฉก ออกหากินตามปรกติในเวลากลางวัน มีสายตาที่เฉียบคมแลเห็นได้ดีในช่วงเวลาแสงสลัวๆ นกนางแอ่นกินรังอินเดียมีรายงานว่าหากินในเวลากลางคืน โดยอาศัยแสงไฟฟ้าตามบ้านเรือนและตามถนน ก่อนรุ่งสางฝูงนกจะเริ่มรวมกลุ่มบินวนเวียนอยู่บริเวณปากถ้ำ ก่อนบินเรียงตามกันเป็นทิวยาวออกหากินตลอดทั้งวัน ทั่วไปเป็นบริเวณกว้างขวาง มักหากินอยู่ตามลำพังตัวเดียว ตอนเช้าจะบินหากินไปเหนือระดับยอดไม้ของป่าดงดิบ ยามเที่ยงถึงบ่ายที่แสงอาทิตย์แรงกล้าขึ้นทุกทีๆ มันจะอาศัยมวลอากาศร้อนที่เกิดขึ้นบินวนสูงหายลับไปจากสายตา พอถึงตอนบ่ายอ่อนๆ นกจะบินกลับลงมาจากอากาศเบื้องบนมุ่งไปยังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ อาจจะเป็น แม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ หรือแอ่งน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งมันจะบินเลียดต่ำลงเฉี่ยวกินน้ำหรืออาบน้ำด้วยท่วงท่าบินร่อนที่สวยงาม ปีกทั้งสองชูขึ้นเหนือแผ่นหลังพร้อมบิดหัวลงต่ำแล้วอ้าปากกว้าง ให้หยดน้ำเข้าสู่ปาก หลังจากนั้นจะมาบินรวมฝูงกันบริเวณปากถ้ำตอนพลบค่ำ ก่อนที่จะบินกลับเข้าถ้ำด้วยอาหารเต็มกระเพราะ มุ่งผ่านความมืดมิดเข้าสู่บริเวณรังหรือจุดเกาะพักนอนเพื่อพักผ่อนยามราตรีก่อนจะเริ่มออกหากินอีกครั้งในตอนย่ำรุ่งของวันต่อไป
อาหารหลักของนกแอ่นกินรัง ได้แก่ พวกมดมีปีกและแมลงเม่า คิดเป็น 99% ของปริมาณอาหารทั้งหมด นอกนั้นเป็นพวกแมลงขนาดเล็กๆ เช่น แตนเปียนฝอย แตนไทร เพลี้ย และแมลงวัน มันจะปั้นอาหารในกระเพราะเป็นก้อนกลมๆ แต่ละก้อนมีน้ำหนักโดยเฉลี่ย 0.57 กรัม มีแมลงอยู่โดยเฉลี่ยราว 500 ตัว โดยทั่วไปมีจำนวนแมลงตั้งแต่ 100 ตัว - มากกว่า 1,200 ตัว ได้มีการคาดคะเนไว้ว่านกแอ่นกินรัง จำนวนประมาณ 4,500,000 ตัว ในถ้ำแห่งหนึ่งในเกาะบอร์เนียว กินแมลงได้วันหนึ่งๆ ประมาณ 5,000 กิโลกรัม ประกอบตัวแมลงประมาณ 100,000,000 ตัว ด้วยปริมาณแมลงจำนวนมหาศาลเช่นนี้ทำให้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรอบมากทีเดียว
นกแอ่นกินรังทำรังอยู่ร่วมกันในถ้ำเป็นกลุ่มใหญ่ ทั้งในถ้ำริมทะเลและถ้ำตามเทือกเขาหินปูน บางครั้งที่ตั้งของรังอยู่ลึกจากปากถ้ำมากกว่า 400 เมตร นอกจากนี้ ยังทำรังในอาคารบ้านเรือนบางหลัง และในวัดอีกด้วย รังนกจะทำบนผนังถ้ำที่เอนเข้าด้านใน ส่วนใหญ่รังนกติดอยู่กับผนังผิวเรียบที่มีลักษณะเว้าและมีแนวสันเล็กๆ พาดผ่านหลายสัน การทำรังวางไข่ของนกแอ่นกินรัง มีกิจกรรมการวางไข่ สูงสุดเป็นสองระยะ ระยะแรกในเดือนตุลาคม-ธันวาคม ระยะที่สองในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน แตกต่างกันไปในระหว่างนกแอ่นกินรังในด้านทะเลอันดามัน กับนกแอ่นกินรังในด้านอ่าวไทย ขึ้นอยู่กับการการเริ่มต้นของฤดูมรสุม การสร้างรังใช้เวลานานหนึ่งเดือน เริ่มกกไข่ตั้งแต่วางไข่ฟองแรก วางไข่เพียง 2 ฟอง แต่ละฟองทิ้งระยะเวลาห่างกันประมาณ 3 วัน ระยะฟักไข่นาน 20-26 วัน ระยะเติบโตในรังนาน 37-49 วัน
นกที่ทำรังในถ้ำที่มืดสนิท เวลาบินมีการส่งเสียงดังคลิ๊กๆ เป็นระยะ เป็นระบบใช้คลื่นเสียงสะท้อนเหมือนกับพวกค้างคาวใช้ในการจับเหยื่อ แต่นกแอ่นกินรังใช้คลื่นเสียงสะท้อนเพื่อหลบหลีกอุปสรรคในถ้ำ โดยเปล่งเสียงออกไปและรับเสียงสะท้อนกลับมาสู่หูเพื่อวิเคราะห์เส้นทางที่จะบินผ่าน นอกจากนี้ยังทำให้นกบินออก และกลับสู่ถ้ำได้ในเวลาค่ำ จึงมีเวลาบินออกไปหากินไกลจากถ้ำได้มากกว่านกชนิดอื่นที่ต้องกลับที่พักนอนในช่วงเวลาที่มีแสงสว่างเท่านั้น
คลื่นเสียงนี้แตกต่างจากคลื่นเสียงของค้างคาวที่มีความถี่สูงเกินที่มนุษย์จะได้ยินได้ คลื่นเสียงของนกแอ่นกินรังช่วงคลื่นที่ได้ยินได้ดังเป็นเสียงคลิ๊กๆ ถี่เป็นชุดๆ มีความถี่ตั้งแต่ 1-2 กิโลเฮิรตซ์ ถึง 7-16 กิโลเฮิรตซ์ เวลาบินในถ้ำนกจะส่งเสียงต่อเนื่องกันไปในอัตรา 3-20 คลิ๊กต่อวินาที อัตราจะถี่สูงขึ้นตอนจะลงเกาะ หรือมีสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้า เชื่อว่านกทำเสียงโดยใช้ลิ้นเหมือนพวกค้างคาวบัว(Rousettus spp.) หรือทำเสียงดังโดยใช้บางส่วนของหลอดเสียงก็เป็นได้ แต่จะทำได้ในขณะที่นกอ้าปากเท่านั้น
รังนกที่ใช้ปรุงเป็นอาหารหรือยาบำรุงร่างกายทำด้วยน้ำลาย ซึ่งเป็นสารเมือกเหนียวสร้างมาจากต่อมใต้ลิ้นคู่หนึ่ง ไม่ทำหน้าที่ในการย่อยอาหาร ต่อมคู่นี้มีขนาดพองตัวขึ้นอย่างมากในฤดูทำรัง เมื่อแห้งแล้วสารนี้ละลายได้ยากในน้ำหรือแม้แต่ในกรดหรือด่างอ่อนๆ เป็นการปรับตัวให้สามารถในการทำรังเชื่อมติดอยู่กับผนังถ้ำในสภาพชื้นโดยตลอดของถ้ำได้ดี เป็นสารประเภท mucoprotein มีองค์ประกอบดังนี้ น้ำ 9% โปรตีน 32.3% คาร์โบไฮเดรด 38.7% และพวกเถ้าอนินทรีย์ 20% ในกลุ่มของโปรตีนยังมีกรดอะมิโนจำนวน 17 ชนิด ในปริมาณต่างๆกัน อีกทั้งยังมีแร่ธาตุ เช่น กำมะถัน และฟอสฟอรัส อีกในปริมาณเล็กน้อย
ในปัจจุบันรังนกจัดเป็นสินค้าที่มีราคาสูงมากอย่างไม่น่าเชื่อ รังนกชั้นหนึ่งเกรด เอ มีราคากิโลกรัมละประมาณ 60,000 บาท แต่การจัดเก็บรังนกมีการให้สัมปทานแก่เอกชนเป็นรายๆในแต่ละพื้นที่ อันเป็นการที่รัฐอนุญาตให้เอกชนจัดทำผลประโยชน์เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ภายในระยะเวลาและตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด ได้แก่ บริเวณเกาะในเขตจังหวัดตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล ตรัง ภูเก็ต และ พังงา นอกจากนี้ยังมีปลูกอาคารสูงตามชายทะเลเพื่อล่อให้นกแอ่นกินรังเข้ามาทำรังวางไข่ในหลายบริเวณ โดยเฉพาะในเขต อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช จนเกิดคดีฟ้องร้องกับผู้ที่ได้รับสัมปทานในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงว่าเป็นการละเมิดสัมปทานหลายรายแล้ว เรื่องนี้นับว่ายากต่อการตัดสินเพราะพิสูจน์ความจริงได้ไม่ง่ายเลย
บทความนี้เป็นของ ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ นำมาเสนอเป็นความรู้แก่ผู้สนใจโดย เทพชัย อริยะพันธุ์
No comments:
Post a Comment