Thursday, February 5, 2009

การปรับปรุงแก้ไขบ้านนกแอ่นที่ล้มเหลว

ทุกสิ่งในโลกนี้มักมี 2 ด้านเสมอ ไม่ชนะก็แพ้ ไม่สำเร็จก็ล้มเหลว การทำบ้านนกแอ่นก็เช่นกัน หลังจากที่ทุกสิ่งทุกอย่างได้ดำเนินการจนสู่การเปิดบ้านนกแอ่น เปิดเสียงเรียกนกแอ่นวันแรก จนเวลาผ่านเลยไปเป็นลำดับ 1 ปี 2 ปี 3 ปี 4 ปี 5 ปี...........บ้านนกแอ่นที่มีเค้าว่าจะสำเร็จ เพียงปีแรกก็สามารถเห็นความชัดเจนจากจำนวนนกแอ่นที่เข้าอยู่อาศัย จำนวนรังนกแอ่นที่เห็นชัดนับได้จำนวนมาก ยิ่งผ่านไปหลายๆปียิ่งเพิ่มจำนวนนกแอ่นเป็นพันเป็นหมื่น ส่วนบ้านนกแอ่นที่มีเค้าว่าจะไม่สำเร็จ ในปีแรกที่เฝ้ารอดูจำนวนนกแอ่นที่เข้าอยู่อาศัย ทำไมมันถึงมีนกแอ่นน้อยเสียเหลือเกิน แรกๆก็มาบินวนเวียนโฉบเฉี่ยวให้ตื่นเต้นดีใจ แต่พอเวลาผ่านไป ปีแล้วปีเล่าก็ยังไม่เพิ่มขึ้น ที่พอมีนกแอ่นเข้าอาศัยอยู่บ้างก็ยังพอมีความหวังว่าน่าจะได้นกแอ่นเพิ่ม แต่บางหลังที่ไม่มีนกแอ่นยอมเข้าอยู่อาศัยเลยนี่ซิ ที่มันน่ากลุ้มใจ ลงทุนไปแล้วจะทำอย่างไร การทำบ้านนกแอ่นเมื่อเดินหน้าแล้วไม่มีถอยหลัง เมื่อไม่ถอยหลังก็ต้องไม่ยอมแพ้ เมื่อไม่ยอมแพ้ก็ต้องปรับปรุงแก้ไข

การปรับปรุงแก้ไขบ้านนกแอ่นที่ล้มเหลวเป็นงานที่ละเอียดอ่อน บ้านนกแอ่นที่ทำกันอยู่มากมาย มีทั้งที่ดัดแปลงจากบ้านที่อยู่อาศัยมาเป็นบ้านนกแอ่น และบ้านนกแอ่นที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะ ดังนั้นจึงมีรูปแบบที่หลากหลาย แต่ละแห่งแต่ละที่จึงต้องใช้การปรับปรุงแก้ไขที่แตกต่างกัน บ้านนกแอ่นที่มีนกแอ่นเข้าอยู่อาศัยแล้วแต่จำนวนนกแอ่นไม่เพิ่มขึ้นเลยกับบ้านนกแอ่นที่นกแอ่นไม่ยอมเข้าอยู่อาศัย การปรับปรุงแก้ไขย่อมแตกต่างกัน

รายการปรับปรุงแก้ไขที่ต้องสำรวจอีกครั้ง:

1. ช่องทางเข้า-ออกมีความสะดวกต่อการทำวงบินของนกแอ่นเมื่อบินเข้าสู่ภายในตัวบ้านหรือไม่ ทำให้นกแอ่นบินเข้า-ออกได้ตามใจปรารถนาหรือไม่ มีอุปสรรคที่ทำให้ต้องบินหักมุมอย่างรุนแรงหรือไม่ ถ้าหากการบินเข้า-บินออกของนกแอ่นทำได้ลำบาก เพราะเราพยายามบล๊อกแสงตรงปากทางเข้า-ออก และทำห้องบล๊อกแสงเล็กเกินไป เล็กกว่า 2 x 2 เมตร ถ้าช่องทางเข้า-ออกของบ้านนกแอ่นท่านเป็นเช่นนี้จริง นกแอ่นจะเข้าเพียงครั้งแรกและบินออกไป จากนั้นจะไม่กลับมาที่บ้านนกแอ่นของท่านอีกเลย และจะเป็นเช่นนี้กับนกแอ่นชุดใหม่ที่บินมาสำรวจและจากไปอย่างไม่มีวันที่จะกลับมาที่บ้านนกแอ่นของท่านอีกเลย

2. เสียงเรียกนกแอ่นทั้งเสียงเรียกนอกและเสียงเรียกใน ระบบเสียงมีความสมบูรณ์จริงหรือไม่ บางครั้งเป็นเรื่องยากสำหรับท่านที่จะวินิจฉัยว่าระบบเสียงเรียกนกแอ่นนั้นมีความสมบูรณ์เพียงไร เพราะท่านเองก็เพิ่งจะได้ฟังเสียงเรียกนกแอ่นเป็นครั้งแรกก็ตอนที่มาทำบ้านนกแอ่นนี่แหละ ที่ปรึกษาที่ท่านจ้างมาจัดหามาให้ หรือเพื่อนๆที่ทำบ้านนกแอ่นจัดหามาให้ จะเสียเงินซื้อมาหรือได้ฟรีก็แล้วแต่ แต่ท่านไม่มีประสบการณ์เรื่องเสียงเรียกนกแอ่นเลย รวมถึงระบบเครื่องเสียงและลำโพงที่ใช้ในการเปิดเสียงเรียกนกแอ่นด้วย บางครั้งเมื่อทำการติดตั้งระบบเครื่องเสียงใหม่ๆอาจจะฟังดูสมบูรณ์ชัดเจนดี พอผ่านไประยะหนึ่งเสียงเรียกให้ผลลัพธ์ที่ผิดเพี้ยนไป ท่านไม่สามารถจำแนกได้ แต่มีผลต่อการดึงดูดเร่งเร้าให้นกแอ่นมาสนใจบ้านนกแอ่นของท่าน

3. อุณหภูมิและความชื้น ระบบต่างๆที่ท่านทำไว้เพื่อช่วยให้อุณหภูมิและความชื้นภายในบ้านนกแอ่น ให้อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 26 - 29 องศาเซลเซียส ให้ความชื้นอยู่ที่ประมาณ 80 - 90 % ระบบทำได้ตามที่ท่านต้องการหรือไม่ อุณหภูมิมากกว่า 30 องศาเซลเซียสหรือไม่ ความชื้นต่ำกว่า 60 % หรือไม่ ทั้งอุณหภูมิและความชื้นล้วนมีผลต่อการตัดสินใจเข้าอยู่อาศัยของนกแอ่นทั้งสิ้น

4. กลิ่นต่างๆภายในบ้านนกแอ่นของท่าน ท่านเองอาจจะไม่สามารถสัมผัสได้แต่นกแอ่นได้กลิ่น เช่น กลิ่นสาบของขี้แมลงสาบ ขี้หนู กลิ่นสี กลิ่นปูน กลิ่นลวดเชื่อมเหล็ก ฯลฯ ดังนั้นท่านต้องค้นหาวิธีทำให้กลิ่นต่างๆเหล่านี้หมดไป

5. ไม้ตีรัง การสำรวจว่าไม้ตีรังขึ้นเชื้อราหรือไม่ นกแอ่นจะไม่ยอมทำรังตรงที่ไม้ตีรังขึ้นเชื้อรา บางบ้านเปิดได้ไม่ถึง 2 เดือน เกิดเชื้อราบนไม้ตีรังเกือบทั้งหมด ทำให้นกแอ่นหาที่ทำรังได้ยาก ไม่สามารถเพิ่มประชาการนกแอ่นได้ นกแอ่นจึงไม่เข้าอยู่อาศัยแม้แต่ตัวเดียว บางบ้านบางแห่งไม้ตีรังไม่กบไม่เซาะร่อง ทำให้นกแอ่นเกาะพักลำบาก นกแอ่นก็ไม่เข้าอยู่อาศัย การเลือกชนิดของไม้ตีรังก็มีผล ไม้บางชนิดแม้เวลาผ่านไปหลายปีกลิ่นก็ยังไม่หมด ไม้บางชนิดเนื้อแข็งมากจนนกแอ่นเกาะลำบาก ยิ่งไม่เซาะร่องอีกด้วยยิ่งเกาะลำบาก

6. ศัตรูรบกวน ต้องสำรวจว่ามีศัตรูรบกวนอยู่รอบๆบริเวณบ้านนกแอ่นมากหรือไม่ ตอนทำใหม่ๆอาจจะไม่เห็น ทำไปได้ระยะหนึ่งศัตรูเหล่านี้เริ่มปรากฏให้เห็น ภายนอกบ้าน เช่น นกแสก เหยี่ยว ภายในบ้าน เช่น แมลงสาบ ตุ๊กแก หนู

7. ..... 8. ..... 9. ..... 10. ..... และอีกหลายๆรายการที่ต้องสำรวจให้พบแล้วรีบปรับปรุงแก้ไข
จากการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการพบว่า มีบ้านนกแอ่นในมาเลเซียประมาณ 80 % ล้มเหลว ในประเทศไทยประมาณ 70 % ล้มเหลว จึงนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก การปรับปรุงแก้ไขก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ สำหรับท่านที่ทำบ้านนกแอ่นแล้วไม่ประสพความสำเร็จอย่าเพิ่งถ้อถอยยอมแพ้นะครับ ลองปรับปรุงแก้ไขดู ค้นหาในสิ่งที่เป็นอุปสรรคให้เจอ มีหลายแห่งที่ปรับปรุงแก้ไขแล้วประสพความสำเร็จ ส่วนท่านที่ประสพความสำเร็จสูงสุดแล้ว ช่วยแนะนำท่านอื่นๆบ้างอย่าเก็บไว้คนเดียว หากท่านยังนึกไม่ออกว่าจะเริ่มต้นปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ลองโทรศัพท์ไปคุยกับผมสักสองสามคำก็ได้ครับ 081-8965555 จะได้ช่วยกันคิดช่วยกันค้นหา ผมเองไม่ใช่ผู้รอบรู้ในเรื่องบ้านนกแอ่นทั้งหมด แต่ชอบที่จะค้นหาและอยากเห็นท่านประสพความสำเร็จ

ขอให้ทุกท่านโชคดี

นำเสนอโดยเทพชัย อริยะพันธุ์

No comments:

แนะนำแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดยะลา

แนะนำแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดยะลา
ยะลา หรือ ยะลอ แปลว่า "แห" เดิมเป็นหนึ่งในเจ็ดหัวเมืองตอนใต้ ขึ้นอยู่กับมณฑลปัตตานี ต่อมาได้ประกาศเป็นจังหวัด ตามระเบียบบริหารการปกครองใหม่เมื่อปี 2476 ปัจจุบันจังหวัดยะลามีพื้นที่ 4,521.077 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็น 8 อำเภอ 58 ตำบล 376 หมู่บ้าน มีอำเภอเมือง อำเภอรามัน อำเภอยะหา อำเภอบันนังสตา อำเภอเบตง อำเภอธารโต อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลาตั้งอยู่ตอนใต้สุดของประเทศไทย ดั่งคำขวัญที่ว่า "ยะลา : ใต้สุดสยามเมืองงามชายแดน" อยู่ห่างจากกรุงเทพฯโดยทางรถไฟประมาณ 1,039 กิโลเมตร หรือโดยทางรถยนต์ตามถนนเพชรเกษมประมาณ 1,440 กิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีผังเมืองสวยงามแห่งหนึ่งของประเทศไทย

หลักเมืองยะลา

หลักเมืองยะลา
หลักเมืองยะลาสร้างขึ้นจากแนวความคิดของ พ.ต.อ.ศิริ คชหิรัญ ครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาร่วมกับบรรดาข้าราชการซึ่งมีความเห็นตรงกันว่าเดิมจังหวัดยะลาเป็นอาณาเขตหนึ่งในบริเวณ 7 หัวเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดปัตตานี เพิ่งแยกออกเป็นเมืองหนึ่งต่างหากในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (ในสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ. 2335) ที่ตั้งตัวเมืองยะลาเดิมมิได้อยู่ในที่ปัจจุบัน แต่ได้โยกย้ายมาแล้วถึง 4 ครั้งด้วยกัน ด้วยเหตุดังกล่าวท่านจึงให้ข้าราชการและประชาชนชาวจังหวัดยะลาได้พร้อมใจกันสร้างหลักเมืองขึ้นที่บริเวณศูนย์วงเวียนหน้าศาลากลางจังหวัดโดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504 เวลา 10.30 น. ปัจจุบันหลักเมืองยะลาเป็นศูนย์กลางของเมืองยะลา ทั้งนี้เนื่องจากผังเมืองยะลาได้ออกแบบไว้เหมาะเจาะกันพอดีรอบๆวงเวียนหลักเมือง อันเป็นวงเวียนชั้นในสุดเป็นที่ทำการของส่วนราชการต่างๆ ได้แก่ ศาลากลางจังหวัด ศาลจังหวัด กองกำกับการตำรวจภูธร สำนักงานที่ดิน สำนักงานเกษตร สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และที่ว่าการอำเภอเมืองยะลา บรรดาถนนทุกสายที่มาจากอำเภอต่างๆของจังหวัดจะมารวมกันที่หลักเมือง

วัดคูหาภิมุข

วัดคูหาภิมุข
ถ้ำคูหาภิมุขตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง ไปตามเส้นทางยะลา-หาดใหญ่ ประมาณ 7 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายเข้าวัดอีก 1 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุที่สำคัญคือ พระพุทธไสยาสน์ สร้างสมัยศรีวิชัยประมาณ 1,300 ปีเศษ ภายในมีถ้ำต่างๆเช่น ถ้ำมืด ถ้ำ ภปร. มีหินงอกหินย้อย และหยดน้ำไหลรินจากโขดหินสวยงามยิ่งนัก หยดเกร็ดเพชรระยิบระยับตา ซึ่งในปี 2539 ถ้ำคูหาภิมุขได้รับรางวัลการประกวดแหล่งท่องเที่ยวประเภทธรรมชาติของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

พระมหากัจจายนะ

พระมหากัจจายนะ
พระมหากัจจายนะ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2505 ประดิษฐานอยู่ภายในวัดเมืองยะลา อยู่กลางแจ้งภายในวัด องค์ใหญ่สวยงาม หากหมั่นทำความดีเมื่อมาขอพรจากท่านมักจะประสบความสำเร็จ อยู่ห่างจากศาลากลางไปทางถนนสุขยางค์ทางออกมุ่งสู่อำเภอเบตงประมาณ 1 กิโลเมตร อยู่ด้านขวามือตรงข้ามกับโรงเรียนตำรวจภูธร 9 (กองบัญชาการส่วนหน้า)

วัดพุทธาธิวาส

วัดพุทธาธิวาส
พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ ตั้งอยู่ ณ วัดพุทธาธิวาส ถนนรัตนกิจ ในตัวเมืองเบตง โดยตัวเจดีย์ตั้งอยู่บนเนินเขามีขนาดความกว้าง 39 เมตร สูง 39.9 เมตร หรือขนาดความสูงเทียบเท่าตึก 13 ชั้น เป็นมหาธาตุเจดีย์ที่สวยงามและขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ เป็นศิลปกรรมแบบศรีวิชัยประยุกต์ มหาเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นจากความคิดและการดำเนินการของอดีตประธานศาลฏีกา นายสวัสดิ์ โชติพานิช เพื่อเฉลิมฉลองและถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา

เขื่อนบางลาง

เขื่อนบางลาง
เขื่อนบางลางในระหว่างการเดินทางด้วยรถยนต์จากตัวเมืองยะลาสู่อำเภอเบตง บนเส้นทางหลวงสายยะลา-เบตง สามารถแวะชมทัศนียภาพอันสวยงามของเขื่อนบางลางได้ที่บ้านบางลาง ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา ซึ่งห่างจากตัวเมืองยะลา 58 กิโลเมตร และเข้าไปในตัวเขื่อนอีกประมาณ 12.5 กิโลเมตร ตัวเขื่อนบางลางสร้างปิดกั้นแม่น้ำปัตตานี ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ที่ทิวเขาสันกาลาคีรี สันปันน้ำระหว่างไทยกับมาเลเซียในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ด้วยฝีไม้ลายมือมนุษย์ทำให้พื้นที่บริเวณเหนือเขื่อน กลายสภาพเป็นทะเลสาปน้ำจืดกลางหุบเขาขนาดใหญ่ซึ่งล้อมรอบไปด้วยความเขียวขจีจากพันธุ์พืชพันธุ์ไม้นานาชนิดและภูเขาน้อยใหญ่ที่ทอดตัวเรียงรายสลับซับซ้อนโอบล้อมอยู่ ทิวทัศน์ที่สวยงามเช่นนี้ มีอาคารบ้านพักตากอากาศ ห้องจัดประชุม ร้านอาหาร สนามเทนนิส สนามเปตอง สนามกอล์ฟ สนามฟุตบอล แพล่องชมทัศนียภาพ ไว้บริการให้ความสะดวกแก่ผู้มาเยือน จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นทางเลือกในการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจอีกแห่งหนึ่ง นอกจากจะเหมาะต่อการท่องเที่ยวแล้วเขื่อนบางลางยังคงคุณสมบัติของเขื่อนเอนกประสงค์ตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแห่งแรกในภาคใต้ไว้ได้เช่นเดิมคือ ช่วยในการป้องกันอุทกภัย การชลประทาน การผลิตกระแสไฟฟ้าและการประมง (สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม,ติดต่อบ้านพักโทรฯ 0-7329-9237-8, 0-7329-7099 ล่องเรือหรือแพชมทิวทัศน์ทะเลสาปเหนือเขื่อน โทรฯ 0-7328-1063-66 ต่อ 2291)

วิถีชีวิตของชาวบ้านรอบๆเมืองยะลา

วิถีชีวิตของชาวบ้านรอบๆเมืองยะลา
ยะลาเป็นเมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีธรรมชาติที่สวยงามอุดมสมบูรณ์ ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดำเนินตามรอยพระบาทชีวิตความเป็นอยู่แบบพอเพียง มีอาหารการกินที่หลากหลายทั้ง ไทย จีน มุสลิม ผู้คนรักใคร่กลมเกลียว เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความวุ่นวายทั้งหลายที่เกิดเป็นเพียงภาพลวงตา อีกไม่นานก็จะหายไป เพราะเขาเองก็เบื่อเต็มทนแล้วเพราะตั้งแต่วันแรกที่หลงผิดชีวิตยังหาความสุขไม่ได้ จะขอกลับมาเป็นคนดีของสังคมเร็วๆนี้

อานิสงส์และบุญกุศลใดๆ

อานิสงส์ใดๆที่เกิดขึ้นจากการได้มีโอกาสเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ ข่าวสารและวิชาการเกี่ยวกับการเลี้ยงและทำบ้านนกแอ่น ขอมอบแด่ คุณพ่อสุนันท์-คุณแม่อำนวย อริยะพันธุ์ พี่กัญญา ศรีสวัสดิ์และครอบครัว พี่ดวงพร เพชรโชติและครอบครัว น้องนิชา สุตะเมืองและครอบครัว คุณอ้อย(ภรรยา) น้องหนึ่ง(ลูกชาย) น้องฟรังก์(ลูกสาว) น้องดิว(ลูกสะใภ้) น้องพีร์(หลานชาย) ตลอดจนคณาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประศาสตร์วิชาความรู้ให้แก่ศิษย์โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ขอบุญกุศลแห่งวิทยาทานทั้งหมดที่ข้าพเจ้าได้กระทำจงมีแด่ทุกท่านที่ข้าพเจ้าได้เคยรู้จักและเกี่ยวข้อง ให้ประสพแต่ความสุข ความเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฎิภานธนสารสมบัติทุกประการเทอญ เทพชัย อริยะพันธุ์