Monday, May 5, 2008

การสร้างบ้านนกแอ่น(Construction of Swiftlet House)

การสร้างบ้านนกแอ่นในปัจจุบันต้องออกแบบให้ดีให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่จริงของนกแอ่น ให้เหมือนถ้ำที่นกแอ่นอยู่ตามเกาะต่างๆ บ้านนกแอ่นที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคือบ้านที่สามารถสร้างได้ใกล้เคียงสภาพถ้ำนกแอ่นมากที่สุด ในประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย เรียกบ้านนกแอ่นว่า "Swiftlet House" หรือ "Swiftlet Farming" ลักษณะจริงๆก็คือการทำฟาร์มนั่นเอง แต่เนื่องจากนกแอ่นเป็นนกที่แตกต่างจากนกอื่นๆ คือ ไม่ยอมให้จำกัดบริเวณหรือถูกกักขัง ไม่ต้องให้อาหาร นกแอ่นจะออกหากินเองตามลักษณะธรรมชาติของนกแอ่น การเลี้ยงนกแอ่นจึงถือเป็นลักษณะของการทำฟาร์มแบบพิเศษ ทำที่ให้นกแอ่นเกาะพักเพื่อทำรังโดยใช้ไม้ตีรัง(Nesting Plank) ทำอุณหภูมิและความชื้นให้เหมือนในถ้ำนกแอ่น ดูแลอย่าให้มีศัตรูของนกแอ่นมารบกวน ทำความมืดให้เหมาะสม เปิดเสียงเรียกนกแอ่นให้ฟังดูเหมือนมีนกแอ่นอาศัยอยู่มากมาย เท่านี้ก็เรียกนกแอ่นให้เข้าอยู่ได้แล้ว

ในช่วงเวลา 20 - 30 ปี ที่ผ่านมา คนไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าไม่สามารถที่จะทำบ้านให้นกแอ่นอยู่ได้ ทุกวันนี้คนไทยบางส่วนก็ยังคงเชื่อเช่นนี้ เชื่อว่าคนที่มีบ้านและมีนกแอ่นเข้าอยู่อาศัย คือคนที่มีโชคมีบุญวาสนา การจะทำบ้านและเรียกให้นกแอ่นเข้าอยู่อาศัยเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้(Impossible)

เจ้าของบ้านนกแอ่นหลายๆคนที่ผมรู้จักและได้พูดคุยด้วย เป็นบ้านนกแอ่นที่สำเร็จสูงสุด ก็ยังไม่เคยบอกรายละเอียดใดๆให้ผมทราบ เหตุผลของเขาคือ ข้อแรกเรื่องความปลอดภัย ข้อที่สองไม่อยากให้มีบ้านนกแอ่นใหม่เพิ่มขึ้น ข้อที่สามไม่อยากแบ่งบันข้อมูลความรู้เรื่องนี้กับใครๆ

การจะดูว่าบ้านนกแอ่นหลังใดประสบความสำเร็จหรือไม่ ดูไม่ยาก เพียงท่านตื่นแต่เช้าเวลา 6.00 น. - 8.00 น. ไปยืนดูนกแอ่นบินออกจากช่องทางเข้า-ออกของบ้านนกแอ่น หรือถ้าขี้เกียจตื่นเช้าก็ไปยืนดูตอนเย็นเวลา 18.15 น. - 19.00 น. ถ้าท่านเห็นนกแอ่นบินเข้าหรือบินออกเป็นร้อยๆตัวก็แสดงว่าบ้านนกแอ่นหลังนั้นประสบความสำเร็จ

คำแนะนำที่ผมอยากให้กับท่านที่คิดจะทำบ้านนกแอ่น ในการเลือกสถานที่หรือทำเล โปรดเลือกสถานที่หรือทำเลที่มีบ้านนกแอ่นจำนวนน้อย แต่ต้องมีบ้านนกแอ่นที่สำเร็จแล้วอยู่บ้างเพื่อความมั่นใจ หรือจะทำเป็นหลังแรกๆยิ่งดี ถ้าพื้นที่ใดมีบ้านนกแอ่นที่ทำมานานแล้วเป็นจำนวนมาก คือเกิน 10 หลัง การเรียกนกแอ่นเข้าอยู่อาศัยในบ้านนกแอ่นใหม่ของท่านจะค่อนข้างยากและใช้เวลานาน ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีตึกนกแอ่นเป็นร้อยหลัง แต่ที่ประสบความสำเร็จจริงๆประมาณ 30% เท่านั้น ในประเทศไทยมีบ้านนกแอ่นประมาณ 73,000 หลัง ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดประสบความสำเร็จ เหตุผลของการไม่ประสบความสำเร็จคือ เจ้าของบ้านนกแอ่นส่วนใหญ่ขาดความรู้ ความเข้าใจที่แท้จริง ไม่สามารถทำเงื่อนไขให้ได้ตามมาตรฐานที่นกแอ่นต้องการ

จำนวนบ้านนกแอ่นในพื้นที่เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia):-

- 1. ประเทศอินโดนีเซีย ประมาณ 165,000 หลัง
- 2. ประเทศไทย ประมาณ 73,000 หลัง
- 3. ประเทศมาเลเซีย ประมาณ 35,000 หลัง
- 4. ประเทศเวียตนาม ประมาณ 5,000 หลัง
- 5. ประเทศกัมพูชา ประมาณ 1,000 หลัง

ประชากรนกแอ่นเพิ่มขึ้นตลอดตั้งแต่เริ่มมีการทำบ้านนกแอ่น เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นโอกาสที่ดีของการลงทุนทำบ้านนกแอ่น ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในภูมิภาคนี้ พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยเกือบทุกจังหวัดสามารถทำบ้านนกแอ่นได้ แต่ยังไม่ได้มีการสำรวจพื้นที่โดยละเอียด ยังไม่มีการทำโซนนิ่งเหมือนประเทศมาเลเซีย

ตลาดรังนกแอ่นจะยังคงตื่นตัวตลอดไป เพราะความต้องการบริโภครังนกแอ่นยังมากเกินกว่าความสามารถในการผลิตรังนกแอ่นเพื่อสนองตอบความต้องการ ปี 2007 ประเทศไทยส่งออกรังนกแอ่น 19% ของความต้องการของตลาดโลก อินโดนีเซีย 62% มาเลเซีย 8% ประเทศจีนและฮ่องกงบริโภครังนกแอ่นมากกว่า 100 ตัน/ปี ใต้หวันและประเทศอื่นๆประมาณ 50 ตัน/ปี

จากบทความที่ประมวลมาจนถึงตัวเลขที่กล่าวถึง คิดว่าท่านคงเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมของการทำบ้านนกแอ่น การทำบ้านนกแอ่นให้ประสบความสำเร็จนั้นยังมีโอกาส เพราะประชากรนกแอ่นเพิ่มขึ้นตลอด และกลุ่มผู้บริโภคก็ยังมีอยู่ตลอด การทำบ้านนกแอ่นที่ถูกหลักวิชาการและวิธีการย่อมประสบความสำเร็จได้ ขอให้ทุกท่านโชคดี

นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์

No comments:

แนะนำแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดยะลา

แนะนำแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดยะลา
ยะลา หรือ ยะลอ แปลว่า "แห" เดิมเป็นหนึ่งในเจ็ดหัวเมืองตอนใต้ ขึ้นอยู่กับมณฑลปัตตานี ต่อมาได้ประกาศเป็นจังหวัด ตามระเบียบบริหารการปกครองใหม่เมื่อปี 2476 ปัจจุบันจังหวัดยะลามีพื้นที่ 4,521.077 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็น 8 อำเภอ 58 ตำบล 376 หมู่บ้าน มีอำเภอเมือง อำเภอรามัน อำเภอยะหา อำเภอบันนังสตา อำเภอเบตง อำเภอธารโต อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลาตั้งอยู่ตอนใต้สุดของประเทศไทย ดั่งคำขวัญที่ว่า "ยะลา : ใต้สุดสยามเมืองงามชายแดน" อยู่ห่างจากกรุงเทพฯโดยทางรถไฟประมาณ 1,039 กิโลเมตร หรือโดยทางรถยนต์ตามถนนเพชรเกษมประมาณ 1,440 กิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีผังเมืองสวยงามแห่งหนึ่งของประเทศไทย

หลักเมืองยะลา

หลักเมืองยะลา
หลักเมืองยะลาสร้างขึ้นจากแนวความคิดของ พ.ต.อ.ศิริ คชหิรัญ ครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาร่วมกับบรรดาข้าราชการซึ่งมีความเห็นตรงกันว่าเดิมจังหวัดยะลาเป็นอาณาเขตหนึ่งในบริเวณ 7 หัวเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดปัตตานี เพิ่งแยกออกเป็นเมืองหนึ่งต่างหากในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (ในสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ. 2335) ที่ตั้งตัวเมืองยะลาเดิมมิได้อยู่ในที่ปัจจุบัน แต่ได้โยกย้ายมาแล้วถึง 4 ครั้งด้วยกัน ด้วยเหตุดังกล่าวท่านจึงให้ข้าราชการและประชาชนชาวจังหวัดยะลาได้พร้อมใจกันสร้างหลักเมืองขึ้นที่บริเวณศูนย์วงเวียนหน้าศาลากลางจังหวัดโดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504 เวลา 10.30 น. ปัจจุบันหลักเมืองยะลาเป็นศูนย์กลางของเมืองยะลา ทั้งนี้เนื่องจากผังเมืองยะลาได้ออกแบบไว้เหมาะเจาะกันพอดีรอบๆวงเวียนหลักเมือง อันเป็นวงเวียนชั้นในสุดเป็นที่ทำการของส่วนราชการต่างๆ ได้แก่ ศาลากลางจังหวัด ศาลจังหวัด กองกำกับการตำรวจภูธร สำนักงานที่ดิน สำนักงานเกษตร สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และที่ว่าการอำเภอเมืองยะลา บรรดาถนนทุกสายที่มาจากอำเภอต่างๆของจังหวัดจะมารวมกันที่หลักเมือง

วัดคูหาภิมุข

วัดคูหาภิมุข
ถ้ำคูหาภิมุขตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง ไปตามเส้นทางยะลา-หาดใหญ่ ประมาณ 7 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายเข้าวัดอีก 1 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุที่สำคัญคือ พระพุทธไสยาสน์ สร้างสมัยศรีวิชัยประมาณ 1,300 ปีเศษ ภายในมีถ้ำต่างๆเช่น ถ้ำมืด ถ้ำ ภปร. มีหินงอกหินย้อย และหยดน้ำไหลรินจากโขดหินสวยงามยิ่งนัก หยดเกร็ดเพชรระยิบระยับตา ซึ่งในปี 2539 ถ้ำคูหาภิมุขได้รับรางวัลการประกวดแหล่งท่องเที่ยวประเภทธรรมชาติของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

พระมหากัจจายนะ

พระมหากัจจายนะ
พระมหากัจจายนะ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2505 ประดิษฐานอยู่ภายในวัดเมืองยะลา อยู่กลางแจ้งภายในวัด องค์ใหญ่สวยงาม หากหมั่นทำความดีเมื่อมาขอพรจากท่านมักจะประสบความสำเร็จ อยู่ห่างจากศาลากลางไปทางถนนสุขยางค์ทางออกมุ่งสู่อำเภอเบตงประมาณ 1 กิโลเมตร อยู่ด้านขวามือตรงข้ามกับโรงเรียนตำรวจภูธร 9 (กองบัญชาการส่วนหน้า)

วัดพุทธาธิวาส

วัดพุทธาธิวาส
พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ ตั้งอยู่ ณ วัดพุทธาธิวาส ถนนรัตนกิจ ในตัวเมืองเบตง โดยตัวเจดีย์ตั้งอยู่บนเนินเขามีขนาดความกว้าง 39 เมตร สูง 39.9 เมตร หรือขนาดความสูงเทียบเท่าตึก 13 ชั้น เป็นมหาธาตุเจดีย์ที่สวยงามและขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ เป็นศิลปกรรมแบบศรีวิชัยประยุกต์ มหาเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นจากความคิดและการดำเนินการของอดีตประธานศาลฏีกา นายสวัสดิ์ โชติพานิช เพื่อเฉลิมฉลองและถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา

เขื่อนบางลาง

เขื่อนบางลาง
เขื่อนบางลางในระหว่างการเดินทางด้วยรถยนต์จากตัวเมืองยะลาสู่อำเภอเบตง บนเส้นทางหลวงสายยะลา-เบตง สามารถแวะชมทัศนียภาพอันสวยงามของเขื่อนบางลางได้ที่บ้านบางลาง ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา ซึ่งห่างจากตัวเมืองยะลา 58 กิโลเมตร และเข้าไปในตัวเขื่อนอีกประมาณ 12.5 กิโลเมตร ตัวเขื่อนบางลางสร้างปิดกั้นแม่น้ำปัตตานี ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ที่ทิวเขาสันกาลาคีรี สันปันน้ำระหว่างไทยกับมาเลเซียในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ด้วยฝีไม้ลายมือมนุษย์ทำให้พื้นที่บริเวณเหนือเขื่อน กลายสภาพเป็นทะเลสาปน้ำจืดกลางหุบเขาขนาดใหญ่ซึ่งล้อมรอบไปด้วยความเขียวขจีจากพันธุ์พืชพันธุ์ไม้นานาชนิดและภูเขาน้อยใหญ่ที่ทอดตัวเรียงรายสลับซับซ้อนโอบล้อมอยู่ ทิวทัศน์ที่สวยงามเช่นนี้ มีอาคารบ้านพักตากอากาศ ห้องจัดประชุม ร้านอาหาร สนามเทนนิส สนามเปตอง สนามกอล์ฟ สนามฟุตบอล แพล่องชมทัศนียภาพ ไว้บริการให้ความสะดวกแก่ผู้มาเยือน จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นทางเลือกในการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจอีกแห่งหนึ่ง นอกจากจะเหมาะต่อการท่องเที่ยวแล้วเขื่อนบางลางยังคงคุณสมบัติของเขื่อนเอนกประสงค์ตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแห่งแรกในภาคใต้ไว้ได้เช่นเดิมคือ ช่วยในการป้องกันอุทกภัย การชลประทาน การผลิตกระแสไฟฟ้าและการประมง (สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม,ติดต่อบ้านพักโทรฯ 0-7329-9237-8, 0-7329-7099 ล่องเรือหรือแพชมทิวทัศน์ทะเลสาปเหนือเขื่อน โทรฯ 0-7328-1063-66 ต่อ 2291)

วิถีชีวิตของชาวบ้านรอบๆเมืองยะลา

วิถีชีวิตของชาวบ้านรอบๆเมืองยะลา
ยะลาเป็นเมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีธรรมชาติที่สวยงามอุดมสมบูรณ์ ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดำเนินตามรอยพระบาทชีวิตความเป็นอยู่แบบพอเพียง มีอาหารการกินที่หลากหลายทั้ง ไทย จีน มุสลิม ผู้คนรักใคร่กลมเกลียว เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความวุ่นวายทั้งหลายที่เกิดเป็นเพียงภาพลวงตา อีกไม่นานก็จะหายไป เพราะเขาเองก็เบื่อเต็มทนแล้วเพราะตั้งแต่วันแรกที่หลงผิดชีวิตยังหาความสุขไม่ได้ จะขอกลับมาเป็นคนดีของสังคมเร็วๆนี้

อานิสงส์และบุญกุศลใดๆ

อานิสงส์ใดๆที่เกิดขึ้นจากการได้มีโอกาสเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ ข่าวสารและวิชาการเกี่ยวกับการเลี้ยงและทำบ้านนกแอ่น ขอมอบแด่ คุณพ่อสุนันท์-คุณแม่อำนวย อริยะพันธุ์ พี่กัญญา ศรีสวัสดิ์และครอบครัว พี่ดวงพร เพชรโชติและครอบครัว น้องนิชา สุตะเมืองและครอบครัว คุณอ้อย(ภรรยา) น้องหนึ่ง(ลูกชาย) น้องฟรังก์(ลูกสาว) น้องดิว(ลูกสะใภ้) น้องพีร์(หลานชาย) ตลอดจนคณาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประศาสตร์วิชาความรู้ให้แก่ศิษย์โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ขอบุญกุศลแห่งวิทยาทานทั้งหมดที่ข้าพเจ้าได้กระทำจงมีแด่ทุกท่านที่ข้าพเจ้าได้เคยรู้จักและเกี่ยวข้อง ให้ประสพแต่ความสุข ความเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฎิภานธนสารสมบัติทุกประการเทอญ เทพชัย อริยะพันธุ์