Tuesday, May 20, 2008

ประวัติการพัฒนาการไม้ตีรังในบ้านนกแอ่น

ไม้ตีรังที่ติดอยู่บนเพดานในบ้านนกแอ่นปัจจุบันมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับไม้ที่นกแอ่นเกาะและทำรังในบ้านเรือนของชาวบ้านยุคก่อนๆ ความแตกต่างมีทั้งจากชนิดของไม้และขนาดของไม้ที่ใช้ เพื่อความเข้าใจเรื่องไม้ตีรัง จึงควรศึกษาประวัติการพัฒนาการของไม้ตีรังว่ามีความเป็นมาอย่างไร

บ้านนกแอ่นยุคแรกๆได้ถูกพบพ้องกันหรือตรงกันกับการที่เราได้รับรู้ว่า นกแอ่นเป็นนกป่านกทะเลอาศัยอยู่ในถ้ำธรรมชาติตามเกาะแก่งต่างๆกลางทะเล หรือถ้ำบนผืนป่า หน้าผาใกล้ชายฝั่งทะเล ทำรังกระจัดกระจายบนผนังถ้ำ เพราะผนังถ้ำมีความแข็ง นกแอ่นจึงไม่สามารถเกาะได้ง่ายๆเพื่อทำรังทั่วทุกพื้นที่บนผนังถ้ำ ไม่มีส่วนที่เป็นไม้ภายในถ้ำซึ่งนกแอ่นสามารถเกาะและทำรังได้ง่ายกว่า เมื่อภายในถ้ำเกิดความแออัดจากการเพิ่มของประชากรนกแอ่น
หรืออุปสรรคอื่นๆ ทำให้นกแอ่นกลุ่มแรกๆได้อพยพจากถ้ำนกแอ่นสู่บ้านเรือนของชาวบ้านเพื่อทำรัง

อุปสรรคและเงื่อนไขต่างๆที่ทำให้นกแอ่นบางส่วนอพยพจากถ้ำสู่บ้านเรือนของชาวบ้านมีดังนี้:-
-1. ภัยพิบัติ น้ำท่วม ดินถล่ม และสิ่งอื่นๆ เช่น ปากถ้ำถูกพืชไม้เลื้อยเจริญงอกงามปกคลุม ทำให้ถ้ำนกแอ่นเกิดความไม่สะดวกสบายที่จะอยู่ต่อไป
-2. มีศัตรูรบกวนจำนวนมาก เช่น หนู งู แมลงสาป ตัวไร นกเหยี่ยว นกแสก พวกเก็บรังนก
-3. ถ้ำนกแอ่นเริ่มห่างจากแหล่งอาหารเกินไป นกแอ่นจะอพยพไปอยู่ใกล้แหล่งอาหาร ปกตินกแอ่นจะออกหากินในรัศมี 25 กิโลเมตรจากถิ่นที่อยู่อาศัย ถ้าหากต้องบินไกลกว่า 25 กิโลเมตรจากถิ่นที่อยู่อาศัย นกแอ่นจะอพยพไปหาที่อยู่ใหม่ใกล้แหล่งอาหาร เช่น นาข้าว ทุ่งหญ้า แม่น้ำ พื้นที่เพราะปลูก ป่าไม้ สุมทุมพุ่มไม้ ป่าชายเลน
-4. ภายในถ้ำนกแอ่นเกิดความแออัด ทำให้ลูกนกแอ่นที่เกิดใหม่ไม่สามารถหาที่ทำรังได้

ด้วยอุปสรรคและเงื่อนไขต่างๆดังกล่าว และเพราะว่ามีบ้านเรือนของชาวบ้านที่มีความเหมาะสมทั้งอุณหภูมิ ความชื้น ความมืด และความปลอดภัย นกแอ่นอพยพเหล่านี้จึงเริ่มทำรังในบ้านเรือนของชาวบ้าน เช่น บ้านร้าง โรงงานร้าง โกดังเก็บของร้าง

บ้านเรือนและตึกที่นกแอ่นเข้าอยู่อาศัยคือบ้านเรือนและตึกที่มีเงื่อนไขคล้ายกับถ้ำนกแอ่น เช่น ตึกเก่าที่ก่อด้วยอิฐ ประตูและหน้าต่างถูกปิดทิ้งร้างเป็นเวลานาน ทำให้อุณหภูมิและความชื้นภายในบ้านคงที่ ตรงกันข้าม บางบ้านเรือนและบางตึกที่ทิ้งร้างมานาน แต่อุณหภูมิและความชื้นไม่เหมาะสม นกแอ่นก็ไม่เข้าอยู่อาศัย เราจึงเห็นนกแอ่นเลือกเข้าเป็นบางบ้านบางตึกเท่านั้น จึงเป็นที่มาของเรื่องความเชื่อเรื่องบุญวาสนา

การพัฒนาการของไม้ตีรัง:-

-1. แรกๆนกแอ่นจะทำรังบนกำแพงก่อน ซึ่งมีความคล้ายผนังถ้ำมากกว่าบนไม้
-2. บ้านเรือนเก่ามีมุมที่ซ้อนเร้น มีไม้ระแนงใต้หลังคา มีโครงไม้เพดาน นกแอ่นใช้อุ้งเล็บเกาะบนไม้ได้ง่ายกว่าบนกำแพง รังนกเกาะบนไม้ได้ดีกว่าบนกำแพง บ้านเรือนเก่าส่วนใหญ่ใช้ไม้สัก ดังนั้นผู้คนในยุคนั้นจึงเชื่อว่านกแอ่นชอบทำรังบนไม้สัก
-3. บ้านนกแอ่นในยุคนั้นผลิตรังนกแอ่นได้เท่าที่มีพื้นที่ของไม้ระแนง ไม้โครงพื้นโครงเพดานให้เกาะทำรัง รวมทั้งฝาผนังกำแพง เจ้าของบ้านยังไม่เคยคิดจะจัดการหรือทำพื้นที่เกาะทำรังเพิ่ม รู้จักแต่เก็บรังนกแอ่นขายอย่างเดียว
-4. บ้านเรือนเก่าบางหลังปล่อยทิ้งร้างจนไม้พุ ไม่ได้ซ่อมแซม จึงได้รังนกแอ่นน้อย
-5. เจ้าของบ้านเรือนเก่าเริ่มตระหนัก อยากได้รังนกแอ่นเพิ่มมากขึ้น เริ่มสังเกตุการใช้ไม้ชนิดต่างๆแทนไม้ที่พุ ใช้ไม้แผ่นแทนไม้ระแนง ปรากฎว่านกแอ่นทำรังบนไม้ที่ตีให้ใหม่ ไม้สักก็ยังคงใช้อยู่บ้างเพราะทนทานดีไม่พุง่าย แต่เจ้าของบ้านไม่ค่อยชอบใจ ไม้สักราคาแพงและหายาก
-6. หลังจากให้ความสนใจเรื่องไม้ตีรังจนพบว่า นกแอ่นชอบไม้ที่มีใย ไม่มีกลิ่น ไม่สกปรก ไม่ขึ้นรา กบบางๆพอขุยไม้ออกไม่ต้องให้เรียบจนลื่นมือ ไม่จำเป็นต้องไม้สักอีกต่อไป ไม้อื่นๆก็ได้ ให้เป็นไม้ที่แข็งกลาง ไม่มีกลิ่น มีใยบ้างยิ่งดี
-7. โดยการทดสอบเพื่อเพิ่มผลผลิตรังนกแอ่นและคุณภาพของรังนกแอ่น พบว่านกแอ่นชอบไม้ชนิดใหม่ ไม้ชนิดนี้สามารถดึงดูดให้นกแอ่นทำรังภายใน 4-5 สัปดาห์ และรังนกแอ่นสามารถเก็บเกี่ยวได้ง่าย ไม้ชนิดนี้คือ SWO-2 หรือไม้ "สยาหิน" นั่นเอง ไม้ชนิดนี้ไม่มีกลิ่น เบา และแข็งกลาง มีการเซาะร่องหลายๆร่องบนแผ่นไม้ เพื่อให้นกแอ่นเกาะและตั้งคิ้วทำรังได้ง่ายขึ้น
-8. ไม้ SWO-2 หรือ ไม้สยาหิน หลายๆขนาด ทั้งความกว้าง ความหนา ได้ถูกทดลองใช้เพื่อให้สามารถผลิตรังนกแอ่นเพิ่มขึ้น
-8.1. ไม้หนา 2-3 เซนติเมตร สามารถตีตะปูได้ง่าย ยึดกับเพดานได้มั่นคง นกแอ่นรู้สึกปลอดภัย
-8.2. ไม้กว้าง 15, 20, 30 เซนติเมตร สามารถบังแสงและลมได้ดี

จากการประมวลการพัฒนาการของไม้ตีรัง จนถึงการใช้ไม้ SWO-2 หรือไม้สยาหิน ทั้งความหนาและความกว้างของไม้ มีความเกี่ยวพัน 2 หน้าที่คือ
- ถ้าตีไม้รังขนาด 30 x 100 เซนติเมตร ควรใช้ไม้หน้ากว้าง 15-20 เซนติเมตร
- ถ้าตีไม้รังขนาดใหญ่กว่า 30 x 100 เซนติเมตร ควรใช้ไม้หน้ากว้าง 20-30 เซนติเมตร

นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์

No comments:

แนะนำแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดยะลา

แนะนำแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดยะลา
ยะลา หรือ ยะลอ แปลว่า "แห" เดิมเป็นหนึ่งในเจ็ดหัวเมืองตอนใต้ ขึ้นอยู่กับมณฑลปัตตานี ต่อมาได้ประกาศเป็นจังหวัด ตามระเบียบบริหารการปกครองใหม่เมื่อปี 2476 ปัจจุบันจังหวัดยะลามีพื้นที่ 4,521.077 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็น 8 อำเภอ 58 ตำบล 376 หมู่บ้าน มีอำเภอเมือง อำเภอรามัน อำเภอยะหา อำเภอบันนังสตา อำเภอเบตง อำเภอธารโต อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลาตั้งอยู่ตอนใต้สุดของประเทศไทย ดั่งคำขวัญที่ว่า "ยะลา : ใต้สุดสยามเมืองงามชายแดน" อยู่ห่างจากกรุงเทพฯโดยทางรถไฟประมาณ 1,039 กิโลเมตร หรือโดยทางรถยนต์ตามถนนเพชรเกษมประมาณ 1,440 กิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีผังเมืองสวยงามแห่งหนึ่งของประเทศไทย

หลักเมืองยะลา

หลักเมืองยะลา
หลักเมืองยะลาสร้างขึ้นจากแนวความคิดของ พ.ต.อ.ศิริ คชหิรัญ ครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาร่วมกับบรรดาข้าราชการซึ่งมีความเห็นตรงกันว่าเดิมจังหวัดยะลาเป็นอาณาเขตหนึ่งในบริเวณ 7 หัวเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดปัตตานี เพิ่งแยกออกเป็นเมืองหนึ่งต่างหากในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (ในสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ. 2335) ที่ตั้งตัวเมืองยะลาเดิมมิได้อยู่ในที่ปัจจุบัน แต่ได้โยกย้ายมาแล้วถึง 4 ครั้งด้วยกัน ด้วยเหตุดังกล่าวท่านจึงให้ข้าราชการและประชาชนชาวจังหวัดยะลาได้พร้อมใจกันสร้างหลักเมืองขึ้นที่บริเวณศูนย์วงเวียนหน้าศาลากลางจังหวัดโดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504 เวลา 10.30 น. ปัจจุบันหลักเมืองยะลาเป็นศูนย์กลางของเมืองยะลา ทั้งนี้เนื่องจากผังเมืองยะลาได้ออกแบบไว้เหมาะเจาะกันพอดีรอบๆวงเวียนหลักเมือง อันเป็นวงเวียนชั้นในสุดเป็นที่ทำการของส่วนราชการต่างๆ ได้แก่ ศาลากลางจังหวัด ศาลจังหวัด กองกำกับการตำรวจภูธร สำนักงานที่ดิน สำนักงานเกษตร สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และที่ว่าการอำเภอเมืองยะลา บรรดาถนนทุกสายที่มาจากอำเภอต่างๆของจังหวัดจะมารวมกันที่หลักเมือง

วัดคูหาภิมุข

วัดคูหาภิมุข
ถ้ำคูหาภิมุขตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง ไปตามเส้นทางยะลา-หาดใหญ่ ประมาณ 7 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายเข้าวัดอีก 1 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุที่สำคัญคือ พระพุทธไสยาสน์ สร้างสมัยศรีวิชัยประมาณ 1,300 ปีเศษ ภายในมีถ้ำต่างๆเช่น ถ้ำมืด ถ้ำ ภปร. มีหินงอกหินย้อย และหยดน้ำไหลรินจากโขดหินสวยงามยิ่งนัก หยดเกร็ดเพชรระยิบระยับตา ซึ่งในปี 2539 ถ้ำคูหาภิมุขได้รับรางวัลการประกวดแหล่งท่องเที่ยวประเภทธรรมชาติของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

พระมหากัจจายนะ

พระมหากัจจายนะ
พระมหากัจจายนะ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2505 ประดิษฐานอยู่ภายในวัดเมืองยะลา อยู่กลางแจ้งภายในวัด องค์ใหญ่สวยงาม หากหมั่นทำความดีเมื่อมาขอพรจากท่านมักจะประสบความสำเร็จ อยู่ห่างจากศาลากลางไปทางถนนสุขยางค์ทางออกมุ่งสู่อำเภอเบตงประมาณ 1 กิโลเมตร อยู่ด้านขวามือตรงข้ามกับโรงเรียนตำรวจภูธร 9 (กองบัญชาการส่วนหน้า)

วัดพุทธาธิวาส

วัดพุทธาธิวาส
พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ ตั้งอยู่ ณ วัดพุทธาธิวาส ถนนรัตนกิจ ในตัวเมืองเบตง โดยตัวเจดีย์ตั้งอยู่บนเนินเขามีขนาดความกว้าง 39 เมตร สูง 39.9 เมตร หรือขนาดความสูงเทียบเท่าตึก 13 ชั้น เป็นมหาธาตุเจดีย์ที่สวยงามและขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ เป็นศิลปกรรมแบบศรีวิชัยประยุกต์ มหาเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นจากความคิดและการดำเนินการของอดีตประธานศาลฏีกา นายสวัสดิ์ โชติพานิช เพื่อเฉลิมฉลองและถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา

เขื่อนบางลาง

เขื่อนบางลาง
เขื่อนบางลางในระหว่างการเดินทางด้วยรถยนต์จากตัวเมืองยะลาสู่อำเภอเบตง บนเส้นทางหลวงสายยะลา-เบตง สามารถแวะชมทัศนียภาพอันสวยงามของเขื่อนบางลางได้ที่บ้านบางลาง ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา ซึ่งห่างจากตัวเมืองยะลา 58 กิโลเมตร และเข้าไปในตัวเขื่อนอีกประมาณ 12.5 กิโลเมตร ตัวเขื่อนบางลางสร้างปิดกั้นแม่น้ำปัตตานี ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ที่ทิวเขาสันกาลาคีรี สันปันน้ำระหว่างไทยกับมาเลเซียในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ด้วยฝีไม้ลายมือมนุษย์ทำให้พื้นที่บริเวณเหนือเขื่อน กลายสภาพเป็นทะเลสาปน้ำจืดกลางหุบเขาขนาดใหญ่ซึ่งล้อมรอบไปด้วยความเขียวขจีจากพันธุ์พืชพันธุ์ไม้นานาชนิดและภูเขาน้อยใหญ่ที่ทอดตัวเรียงรายสลับซับซ้อนโอบล้อมอยู่ ทิวทัศน์ที่สวยงามเช่นนี้ มีอาคารบ้านพักตากอากาศ ห้องจัดประชุม ร้านอาหาร สนามเทนนิส สนามเปตอง สนามกอล์ฟ สนามฟุตบอล แพล่องชมทัศนียภาพ ไว้บริการให้ความสะดวกแก่ผู้มาเยือน จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นทางเลือกในการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจอีกแห่งหนึ่ง นอกจากจะเหมาะต่อการท่องเที่ยวแล้วเขื่อนบางลางยังคงคุณสมบัติของเขื่อนเอนกประสงค์ตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแห่งแรกในภาคใต้ไว้ได้เช่นเดิมคือ ช่วยในการป้องกันอุทกภัย การชลประทาน การผลิตกระแสไฟฟ้าและการประมง (สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม,ติดต่อบ้านพักโทรฯ 0-7329-9237-8, 0-7329-7099 ล่องเรือหรือแพชมทิวทัศน์ทะเลสาปเหนือเขื่อน โทรฯ 0-7328-1063-66 ต่อ 2291)

วิถีชีวิตของชาวบ้านรอบๆเมืองยะลา

วิถีชีวิตของชาวบ้านรอบๆเมืองยะลา
ยะลาเป็นเมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีธรรมชาติที่สวยงามอุดมสมบูรณ์ ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดำเนินตามรอยพระบาทชีวิตความเป็นอยู่แบบพอเพียง มีอาหารการกินที่หลากหลายทั้ง ไทย จีน มุสลิม ผู้คนรักใคร่กลมเกลียว เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความวุ่นวายทั้งหลายที่เกิดเป็นเพียงภาพลวงตา อีกไม่นานก็จะหายไป เพราะเขาเองก็เบื่อเต็มทนแล้วเพราะตั้งแต่วันแรกที่หลงผิดชีวิตยังหาความสุขไม่ได้ จะขอกลับมาเป็นคนดีของสังคมเร็วๆนี้

อานิสงส์และบุญกุศลใดๆ

อานิสงส์ใดๆที่เกิดขึ้นจากการได้มีโอกาสเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ ข่าวสารและวิชาการเกี่ยวกับการเลี้ยงและทำบ้านนกแอ่น ขอมอบแด่ คุณพ่อสุนันท์-คุณแม่อำนวย อริยะพันธุ์ พี่กัญญา ศรีสวัสดิ์และครอบครัว พี่ดวงพร เพชรโชติและครอบครัว น้องนิชา สุตะเมืองและครอบครัว คุณอ้อย(ภรรยา) น้องหนึ่ง(ลูกชาย) น้องฟรังก์(ลูกสาว) น้องดิว(ลูกสะใภ้) น้องพีร์(หลานชาย) ตลอดจนคณาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประศาสตร์วิชาความรู้ให้แก่ศิษย์โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ขอบุญกุศลแห่งวิทยาทานทั้งหมดที่ข้าพเจ้าได้กระทำจงมีแด่ทุกท่านที่ข้าพเจ้าได้เคยรู้จักและเกี่ยวข้อง ให้ประสพแต่ความสุข ความเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฎิภานธนสารสมบัติทุกประการเทอญ เทพชัย อริยะพันธุ์