Monday, July 7, 2008

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเครื่องขยายเสียง(Amplifier)

ภาคขยายสัญญาณ

เป็นภาคที่รับสัญญาณไฟฟ้าความถี่เสียง จากภาคสัญญาณเข้า แล้วนำมาปรับแต่งและขยายสัญญาณให้มีความแรงขึ้นเพื่อเตรียมส่งต่อไปยัง ภาคสัญญาณออก ภาคขยายแบ่งออกเป็น 2 วงจร คือ

1. วงจรก่อนการขยาย (Pre Amplifier) เนื่องจากสัญญาณที่ถูกส่งเข้ามาจากภาคสัญญาณเข้ามีความแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง เช่น ไมโครโฟน เครื่องบันทึกเสียง เครื่องเล่นคอมแพกดิสก์ เป็นต้น ดังนั้นภาคก่อนการขยายจะช่วยในการปรับแต่งเสียงให้มีสัญญาณมากน้อยพอๆกัน ก่อนจะส่งไปวงจรกำลังขยาย

2. วงจรกำลังขยาย (Power Amplifier) ทำหน้าที่รับสัญญาณจากวงจรก่อนขยาย (Pre Amplifier) เข้ามาเพื่อทำการขยายให้มีกำลังแรงเพิ่มขึ้น อุปกรณ์ที่ใช้ในขั้นตอนนี้ ก็ได้แก่ เครื่องขยายเสียง (Amplifier) นั่นเองเครื่องขยายเสียง นิยมแบ่งชนิดตามกำลังของการขยายเสียง คือ การแบ่งตามความดังของภาคขยาย เช่น เครื่องขยายเสียงที่นิยมใช้กัน มีกำลังตั้งแต่ 10 วัตต์ ไปจนถึงหลายร้อยวัตต์เลยทีเดียว กำลังวัตต์ของเครื่องขยายเสียงจะบอกถึงความดังที่ออกทางลำโพง กล่าวคือ เครื่องขยายเสียงที่มีกำลัง 200 วัตต์ จะดังกว่าเครื่องขยายเสียงที่มีกำลัง 150 วัตต์นั่นเอง

ส่วนประกอบด้านหลังของเครื่องขยายเสียง ได้แก่

1. ช่องรับสัญญาณเข้า ใช้เสียบ Jack ต่อสัญญาณที่มาจากภาคสัญญาณเข้า เช่น ไมโครโฟน เครื่องเล่นแผ่นเสียง หรือ เครื่องเล่น CD/DVD ในปัจจุบัน เป็นต้น
2. จุดสำหรับต่อสัญญาณออก ใช้ต่อสายเพื่อส่งกำลังไฟฟ้าความถี่เสียงไปยังภาคสัญญาณออก อันได้แก่ ลำโพง นั่นเอง
3. สายไฟฟ้าเข้าเครื่อง เป็นสายต่อเพื่อใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ซึ่งในประเทศไทยใช้ไฟฟ้า 220 Volts ส่วนประกอบด้านหน้าของเครื่องขยายเสียง ได้แก่

1. ปุ่มควบคุม (Control Knobs) Mic.1 Mic.2 Mic.3 เป็นปุ่มควบคุมการรับสัญญาณไฟฟ้าความถี่เสียงจากไมโครโฟนแต่ละตัว เพื่อทำการปรับความดังของไมโครโฟนแต่ละตัวแยกอิสระจากกัน
2. ปุ่มควบคุม (Phono) เป็นปุ่มควบคุมสัญญาณที่มาจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง (Phonograph)
3. ปุ่มควบคุม (Aux.) เป็นปุ่มควบคุมสัญญาณที่มาจาก Auxiliary เช่น เครื่องบันทึกเสียงที่มีการขยายสัญญาณกำลังต่ำมาก่อนแล้ว หรืออาจใช้ควบคุมอุปกรณ์รับสัญญาณเข้าอื่นๆ ที่ไม่มีปุ่มควบคุมอยู่ด้านหน้าด้วย
4. ปุ่มควบคุมการปรับแต่งเสียงทุ้ม (Bass) และเสียงแหลม (Treble) หรือปุ่ม Tone Control ใช้เพื่อปรับเสียงทุ้มแหลมของเสียงให้มากขึ้น ในเครื่องขยายเสียงบางรุ่นอาจรวมปุ่มปรับแต่ทุ้มแหลมนี้ไว้ในปุ่มเดียวกันก็เป็นได้
5. ปุ่มควบคุมการขยายกำลัง (Master Volume) ทำหน้าที่ควบคุมสัญญาณให้มีเสียงดังเบา ก่อนจะออกทางลำโพง ซึ่งปุ่มนี้จะทำหน้าที่ร่วมกับปุ่มอื่นๆ ทุกปุ่มข้างต้นด้วย ดังนั้นการที่ปรับปุ่ม Master Volume ดังเบา ก็จะทำให้เสียงที่ออกทางลำโพงดังเบาตามปุ่มนี้เป็นสำคัญ
6. สวิตช์ไฟฟ้า (switch) ใช้เปิด (On) เมื่อต้องการเริ่มใช้งาน และใช้ปิด (Off) เมื่อเลิกใช้งาน
7. หลอดไฟฟ้าหน้าปัด (Pilot Lamp) หลอดไฟฟ้าแสดงให้ทราบว่ามีไฟฟ้าเข้าเครื่องขยายเสียงหรือไม่ ลักษณะของเครื่องขยายเสียงที่ดี

--มีช่องรับสัญญาณเข้าหลายวงจรและหลายช่อง เพื่อสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสม
--มีกำลังขยายสูง โดยที่ไม่มีเสียงเพี้ยน (Distortion) และเสียงฮัม (Hum)
--สามารถขยายเสียงได้ทุกช่วงความถี่ของเสียง ตั้งแต่ 20 - 20,000 ไซเคิลอย่างสม่ำเสมอ
--ให้ความไพเราะ ชัดเจน (high Fidelity)
--สามารถปรับเสียงทุ้มและเสียงแหลมได้มาก
--สามารถเคลื่อนย้ายสะดวก
--สามารถต่อเข้ากับเครื่องมืออื่นๆ ที่นิยมใช้กันทั่วไปได้สะดวก
--บำรุงรักษาและซ่อมแซมง่าย
--มีความทนทานและปลอดภัยในการใช้
--มีจุดสำหรับสัญญาณออกที่จะเลื่อนให้เหมาะกับความต้านทานของลำโพงหลายชุด

ภาคสัญญาณเข้า (Input)

อุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนคลื่นเสียง ให้เป็นคลื่นไฟฟ้าความถี่เสียง อุปกรณ์ที่เห็นได้ชัด ได้แก่ ไมโครโฟน เครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องเล่น CD/DVD เครื่องเล่นที่สามารถอ่าน Memory Card ชนิดต่างๆ เช่น Thumb Drive, SD Card, อุปกรณ์ตัวนี้จะเป็นตัวทำหน้าที่อ่านคลื่นเสียงและเปลี่ยนคลื่นเสียงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้าความถี่เสียง ไหลไปตามสายสู่เครื่องขยายเสียง

ภาคสัญญาณออก (Output)

ภาคสัญญาณออก เป็นภาคที่เปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าความถี่เสียง เป็นพลังงานเสียง ซึ่งได้แก่ ลำโพง ลำโพงมีการแบ่งประเภทได้หลายลักษณะ บทความเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับลำโพงได้นำเสนอไปแล้วในบทความก่อนนี้

การต่อลำโพงเข้ากับเครื่องขยายเสียง

เครื่องขยายเสียงจะมีจุดต่อสัญญาณออกอยู่ด้านหลังของเครื่องฯ อาจมีหลายลักษณะ แต่ลักษณะหนึ่งที่นิยมใช้จะเป็นลักษณะที่มีจำนวนโอห์มมาให้เลือกต่อ เพื่อความเหมาะสมระหว่างตัวลำโพงกับเครื่องขยายเสียง การต่อลำโพงอาจแบ่งเป็น 2 วิธี คือ การต่อลำโพงตัวเดียว และการต่อลำโพงหลายตัว

การต่อลำโพงตัวเดียว

การต่อลำโพงตัวเดียวเป็นการต่อตรง เช่น ลำโพงมีค่าความต้านทาน 8 โอห์ม ก็ให้ต่อสายเส้นหนึ่งของลำโพงเข้ากับ 0 โอห์ม อีกเส้นต่อที่ 8 โอห์ม

การต่อลำโพงหลายตัว

การต่อลำโพงหลายตัวกับเครื่องขยายเสียงอาจกระทำได้ 3 วิธี คือ การต่อแบบอนุกรม การต่อแบบขนาน และการต่อแบบผสม ซึ่งการต่อแต่ละแบบมีความจำเป็นต้องรู้จักคิดคำนวณค่าความต้านทานกับพลังงานไฟฟ้าความถี่เสียงที่ออกมาจากเครื่องขยายเสียง

การต่อแบบอนุกรม

เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่หากมีลำโพงตัวหนึ่ง ตัวใด ชำรุด จะทำให้ลำโพงทุกตัวเงียบหมด เนื่องจากการตัดตัวเชื่อมต่อของวงอนุกรมนั่นเอง

การต่อแบบขนาน

เป็นวิธีการต่อที่นิยมมาก เนื่องจากหากลำโพงตัวใดตัวหนึ่งชำรุด ตัวที่เหลือยังคงใช้งานได้ตามปกติ

การต่อแบบผสม

เป็นการใช้การต่อลำโพงแบบอนุกรมและแบบขนานร่วมกัน

เรื่องเครื่องขยายเสียงยังมีรายละเอียดอีกมากมาย ที่นำมาเสนอเพื่อให้ท่านได้มีข้อมูล ได้เข้าใจพื้นฐานของเรื่องเครื่องขยายเสียง เวลาไปเลือกซื้อจะได้จะได้มีข้อมูลอยู่บ้าง ราคาที่มีขายอยู่ในท้องตลาด ราคาที่เหมาะสม คุณภาพดี ทนทาน มีหลายยี่ห้อ ราคาเครื่องละตั้งแต่ประมาณ 2,500 - 6,500 บาท แพงกว่านี้ไม่ต้องซื้อ ใครบอกว่าของเขาดีอย่างไรไม่ต้องเชื่อ ชุดละ 60,000 - 80,000 บาท อย่าซื้อเด็ดขาด แพงเกินไปกำไรเกินควร

นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์

No comments:

แนะนำแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดยะลา

แนะนำแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดยะลา
ยะลา หรือ ยะลอ แปลว่า "แห" เดิมเป็นหนึ่งในเจ็ดหัวเมืองตอนใต้ ขึ้นอยู่กับมณฑลปัตตานี ต่อมาได้ประกาศเป็นจังหวัด ตามระเบียบบริหารการปกครองใหม่เมื่อปี 2476 ปัจจุบันจังหวัดยะลามีพื้นที่ 4,521.077 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็น 8 อำเภอ 58 ตำบล 376 หมู่บ้าน มีอำเภอเมือง อำเภอรามัน อำเภอยะหา อำเภอบันนังสตา อำเภอเบตง อำเภอธารโต อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลาตั้งอยู่ตอนใต้สุดของประเทศไทย ดั่งคำขวัญที่ว่า "ยะลา : ใต้สุดสยามเมืองงามชายแดน" อยู่ห่างจากกรุงเทพฯโดยทางรถไฟประมาณ 1,039 กิโลเมตร หรือโดยทางรถยนต์ตามถนนเพชรเกษมประมาณ 1,440 กิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีผังเมืองสวยงามแห่งหนึ่งของประเทศไทย

หลักเมืองยะลา

หลักเมืองยะลา
หลักเมืองยะลาสร้างขึ้นจากแนวความคิดของ พ.ต.อ.ศิริ คชหิรัญ ครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาร่วมกับบรรดาข้าราชการซึ่งมีความเห็นตรงกันว่าเดิมจังหวัดยะลาเป็นอาณาเขตหนึ่งในบริเวณ 7 หัวเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดปัตตานี เพิ่งแยกออกเป็นเมืองหนึ่งต่างหากในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (ในสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ. 2335) ที่ตั้งตัวเมืองยะลาเดิมมิได้อยู่ในที่ปัจจุบัน แต่ได้โยกย้ายมาแล้วถึง 4 ครั้งด้วยกัน ด้วยเหตุดังกล่าวท่านจึงให้ข้าราชการและประชาชนชาวจังหวัดยะลาได้พร้อมใจกันสร้างหลักเมืองขึ้นที่บริเวณศูนย์วงเวียนหน้าศาลากลางจังหวัดโดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504 เวลา 10.30 น. ปัจจุบันหลักเมืองยะลาเป็นศูนย์กลางของเมืองยะลา ทั้งนี้เนื่องจากผังเมืองยะลาได้ออกแบบไว้เหมาะเจาะกันพอดีรอบๆวงเวียนหลักเมือง อันเป็นวงเวียนชั้นในสุดเป็นที่ทำการของส่วนราชการต่างๆ ได้แก่ ศาลากลางจังหวัด ศาลจังหวัด กองกำกับการตำรวจภูธร สำนักงานที่ดิน สำนักงานเกษตร สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และที่ว่าการอำเภอเมืองยะลา บรรดาถนนทุกสายที่มาจากอำเภอต่างๆของจังหวัดจะมารวมกันที่หลักเมือง

วัดคูหาภิมุข

วัดคูหาภิมุข
ถ้ำคูหาภิมุขตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง ไปตามเส้นทางยะลา-หาดใหญ่ ประมาณ 7 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายเข้าวัดอีก 1 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุที่สำคัญคือ พระพุทธไสยาสน์ สร้างสมัยศรีวิชัยประมาณ 1,300 ปีเศษ ภายในมีถ้ำต่างๆเช่น ถ้ำมืด ถ้ำ ภปร. มีหินงอกหินย้อย และหยดน้ำไหลรินจากโขดหินสวยงามยิ่งนัก หยดเกร็ดเพชรระยิบระยับตา ซึ่งในปี 2539 ถ้ำคูหาภิมุขได้รับรางวัลการประกวดแหล่งท่องเที่ยวประเภทธรรมชาติของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

พระมหากัจจายนะ

พระมหากัจจายนะ
พระมหากัจจายนะ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2505 ประดิษฐานอยู่ภายในวัดเมืองยะลา อยู่กลางแจ้งภายในวัด องค์ใหญ่สวยงาม หากหมั่นทำความดีเมื่อมาขอพรจากท่านมักจะประสบความสำเร็จ อยู่ห่างจากศาลากลางไปทางถนนสุขยางค์ทางออกมุ่งสู่อำเภอเบตงประมาณ 1 กิโลเมตร อยู่ด้านขวามือตรงข้ามกับโรงเรียนตำรวจภูธร 9 (กองบัญชาการส่วนหน้า)

วัดพุทธาธิวาส

วัดพุทธาธิวาส
พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ ตั้งอยู่ ณ วัดพุทธาธิวาส ถนนรัตนกิจ ในตัวเมืองเบตง โดยตัวเจดีย์ตั้งอยู่บนเนินเขามีขนาดความกว้าง 39 เมตร สูง 39.9 เมตร หรือขนาดความสูงเทียบเท่าตึก 13 ชั้น เป็นมหาธาตุเจดีย์ที่สวยงามและขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ เป็นศิลปกรรมแบบศรีวิชัยประยุกต์ มหาเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นจากความคิดและการดำเนินการของอดีตประธานศาลฏีกา นายสวัสดิ์ โชติพานิช เพื่อเฉลิมฉลองและถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา

เขื่อนบางลาง

เขื่อนบางลาง
เขื่อนบางลางในระหว่างการเดินทางด้วยรถยนต์จากตัวเมืองยะลาสู่อำเภอเบตง บนเส้นทางหลวงสายยะลา-เบตง สามารถแวะชมทัศนียภาพอันสวยงามของเขื่อนบางลางได้ที่บ้านบางลาง ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา ซึ่งห่างจากตัวเมืองยะลา 58 กิโลเมตร และเข้าไปในตัวเขื่อนอีกประมาณ 12.5 กิโลเมตร ตัวเขื่อนบางลางสร้างปิดกั้นแม่น้ำปัตตานี ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ที่ทิวเขาสันกาลาคีรี สันปันน้ำระหว่างไทยกับมาเลเซียในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ด้วยฝีไม้ลายมือมนุษย์ทำให้พื้นที่บริเวณเหนือเขื่อน กลายสภาพเป็นทะเลสาปน้ำจืดกลางหุบเขาขนาดใหญ่ซึ่งล้อมรอบไปด้วยความเขียวขจีจากพันธุ์พืชพันธุ์ไม้นานาชนิดและภูเขาน้อยใหญ่ที่ทอดตัวเรียงรายสลับซับซ้อนโอบล้อมอยู่ ทิวทัศน์ที่สวยงามเช่นนี้ มีอาคารบ้านพักตากอากาศ ห้องจัดประชุม ร้านอาหาร สนามเทนนิส สนามเปตอง สนามกอล์ฟ สนามฟุตบอล แพล่องชมทัศนียภาพ ไว้บริการให้ความสะดวกแก่ผู้มาเยือน จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นทางเลือกในการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจอีกแห่งหนึ่ง นอกจากจะเหมาะต่อการท่องเที่ยวแล้วเขื่อนบางลางยังคงคุณสมบัติของเขื่อนเอนกประสงค์ตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแห่งแรกในภาคใต้ไว้ได้เช่นเดิมคือ ช่วยในการป้องกันอุทกภัย การชลประทาน การผลิตกระแสไฟฟ้าและการประมง (สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม,ติดต่อบ้านพักโทรฯ 0-7329-9237-8, 0-7329-7099 ล่องเรือหรือแพชมทิวทัศน์ทะเลสาปเหนือเขื่อน โทรฯ 0-7328-1063-66 ต่อ 2291)

วิถีชีวิตของชาวบ้านรอบๆเมืองยะลา

วิถีชีวิตของชาวบ้านรอบๆเมืองยะลา
ยะลาเป็นเมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีธรรมชาติที่สวยงามอุดมสมบูรณ์ ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดำเนินตามรอยพระบาทชีวิตความเป็นอยู่แบบพอเพียง มีอาหารการกินที่หลากหลายทั้ง ไทย จีน มุสลิม ผู้คนรักใคร่กลมเกลียว เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความวุ่นวายทั้งหลายที่เกิดเป็นเพียงภาพลวงตา อีกไม่นานก็จะหายไป เพราะเขาเองก็เบื่อเต็มทนแล้วเพราะตั้งแต่วันแรกที่หลงผิดชีวิตยังหาความสุขไม่ได้ จะขอกลับมาเป็นคนดีของสังคมเร็วๆนี้

อานิสงส์และบุญกุศลใดๆ

อานิสงส์ใดๆที่เกิดขึ้นจากการได้มีโอกาสเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ ข่าวสารและวิชาการเกี่ยวกับการเลี้ยงและทำบ้านนกแอ่น ขอมอบแด่ คุณพ่อสุนันท์-คุณแม่อำนวย อริยะพันธุ์ พี่กัญญา ศรีสวัสดิ์และครอบครัว พี่ดวงพร เพชรโชติและครอบครัว น้องนิชา สุตะเมืองและครอบครัว คุณอ้อย(ภรรยา) น้องหนึ่ง(ลูกชาย) น้องฟรังก์(ลูกสาว) น้องดิว(ลูกสะใภ้) น้องพีร์(หลานชาย) ตลอดจนคณาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประศาสตร์วิชาความรู้ให้แก่ศิษย์โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ขอบุญกุศลแห่งวิทยาทานทั้งหมดที่ข้าพเจ้าได้กระทำจงมีแด่ทุกท่านที่ข้าพเจ้าได้เคยรู้จักและเกี่ยวข้อง ให้ประสพแต่ความสุข ความเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฎิภานธนสารสมบัติทุกประการเทอญ เทพชัย อริยะพันธุ์