Sunday, June 14, 2009

โฟมกันความร้อนโยธาโฟม

บทความเกี่ยวกับฉนวนกันความร้อนที่น่าสนใจ"โยธาโฟม"

"โยธาโฟม"คืออะไร

"โยธาโฟม"คือ ผลผลิตจากความอุตสาหพยายามในการคิดค้น และเสาะหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆสำหรับงานก่อสร้าง และตกแต่งภายใน ที่ผลิตจากโฟม EPS (Expanded Polystyrene Foam)ของกลุ่มบริษัทโปลิโฟมผู้นำในอุตสาหกรรมโฟม EPS มากว่า 40ปี

"โยธาโฟม" เป็นผู้ผลิตโฟมฉนวนกันความร้อน (Foam Insulation), โฟมรองถนนหรือคอสะพาน (Geotchnical Engineering)โฟมก่อสร้างบ้าน ทั้งระบบ EIFS (Exterior Insulation Fixing System) และ ICF (Insulation Concrete Form), บัวและคิ้วสำหรับงานตกแต่งภายในที่ผลิตจากโฟม EPS หรือแม้กระทั่งโฟมแกะสลัก และตกแต่งเสมือนหินเพื่อใช้ประดับตกแต่งสถานที่ให้เกิดความสวยงามและเป็นสิริมงคลล้วนเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานของงานก่อสร้างของประเทศไทย

"โยธาโฟม" คือ ทางเลือกสำหรับความคุ้มค่าและทันสมัย อีกทั้งประหยัดพลังงาน และเวลาในการก่อสร้าง หรือหลังการเข้าอยู่อาศัยแล้วของลูกค้าอีกทั้งยังช่วยรักษาสภาพแวดล้อมให้สะอาดเพื่อมาตรฐานชีวิตที่มีระดับและสมบูรณ์แบบของคนไทย

คุณสมบัติเด่นของโฟม EPS โยธาโฟม

1. ประหยัดราคาวัสดุและค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง
2. ง่าย สะดวกต่อการใช้งาน
3. ไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุพิเศษอื่นใดร่วมในการใช้งาน
4. กันความชื้นและกันการซึมน้ำได้ดีมาก
5. สามารถนำมาตัดตามขนาดที่ต้องการได้
6. โฟมมีความหนาแน่นให้เลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม

การนำโฟม EPS มาทำฉนวนผนังด้านใน

โฟม EPS สามารถยึดติดได้กับพื้นผิวของอิฐทุกชนิด มีคุณสมบัติในการป้องกันความชื้นและกันการซึมน้ำได้ดี ดังนั้นโฟม EPS จึงเป็นฉนวนชั้นยอดที่ช่วยรักษาอุณหภูมิความเย็นภายในบ้านและป้องกันความร้อนจากภายนอกไม่ให้เข้ามาภายในบ้านได้ดีเยี่ยม ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าที่ใช้ในเครื่องปรับอากาศ

วิธีการติดโฟมฉนวนผนังด้านใน

- ติดฉนวนโฟมกับผนังด้านในแล้วค่อยทำการฉาบปูนบนผิวโฟม หลังจากนั้นจึงค่อยติดวัสดุตกแต่งผนัง

การนำโฟม EPS มาทำฉนวนโฟมผนังด้านนอก

สำหรับปัจจุบันบ้านเก่าที่สร้างเสร็จแล้วสามารถนำโฟม EPS มาติดที่ภายนอกบ้านได้เพื่อเป็นฉนวนป้องกันความร้อนเข้าสู่ภายในตัวบ้าน อีกทั้งโฟม EPS นั้นมีน้ำหนักเบาทำให้บ้านเก่าไม่จำเป็นต้องเพิ่มโครงสร้างเพื่อรับน้ำหนักฉนวน และโฟม EPS ยังมีราคาวัสดุและค่าแรงในการติดตั้งถูกกว่าฉนวนประเภทอื่น เหมาะสำหรับผู้ที่มีบ้านอยู่แล้วและต้องการเพิ่มฉนวนกันความร้อนให้กับบ้าน

วิธีการติดโฟมฉนวนด้านนอกผนัง

- ติดฉนวนโฟมบนผนังเก่าของตัวบ้านแล้วจึงค่อยปิดทับด้วยวัสดุตกแต่งผนังภายนอก

การนำโฟม EPS มาทำฉนวนโฟมระหว่างผนัง

จุดเด่นที่สำคัญที่สุดของการติดตั้งฉนวนโฟมระหว่างผนัง คือการป้องกันไม่ให้ความร้อน จากภายนอกเข้ามาสู่ภายในบ้าน และป้องกันความชื้นจากฝนที่สาดกระทบผนังบ้านจาก ด้านนอกเข้ามาทำความเสียหายให้กับวัสดุตกแต่งผนังด้านในบ้าน เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการต้านทานความร้อนควรเว้นช่องว่างระหว่างอิฐก่อผนังด้านนอกและแผ่นโฟมฉนวนไว้ประมาณ ½ นิ้ว สำหรับไว้เป็นช่องว่างอากาศเพื่อไม่ให้อากาศร้อนจากภายนอกแทรกซึมเข้ามาสู่ตัวบ้านได้

วิธีการติดโฟมฉนวนไว้ระหว่างผนังด้านนอกและผนังด้านใน

เป็นอีกหนึ่งในวัสดุที่เหมาะสมกับการทำบ้านนกแอ่น ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมโปรดเข้าดูรายละเอียดใน http://www.yotafoam.com/

นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์


Saturday, June 13, 2009

รังแท้กับรังเทียมอันไหนดีกว่ากัน


ในการทำบ้านนกแอ่นใหม่นั้น มีการใช้วิธีการต่างๆเพื่อดึงดูดให้นกแอ่นเข้าอยู่อาศัยและทำรังในเวลาที่รวดเร็ว หนึ่งในนั้นคือการใช้รังเทียม ถามว่าผลของความสำเร็จจากการใช้รังเทียมนั้นสูงไหม อันนี้ตอบยากจริงๆครับ ผู้ที่เคยทดลองใช้รังเทียมก็ไม่ได้นำผลความสำเร็จของการใช้รังเทียมมาบอกกล่าว ผมเองตอนแรกก็คิดจะใช้ แต่พอไปอ่านเจอว่าเขาใช้แผ่นโฟมเหนียวแบบบางๆ มาตัดขนาด 1 x 3 นิ้ว แปะติดหลอกบนไม้ตีรังได้ ก็เลยไม่ใช้ นกเข้าอยู่และทำรังโดยไม่ต้องใช้รังเทียม

ผมมีโอกาสได้ดูซีดีของอินโดนีเซียเกี่ยวกับการทำบ้านนกแอ่น มีการกล่าวถึงการใช้รังจริงติดบนไม้ตีรังของบ้านนกแอ่นใหม่เพื่อดึงดูดให้นกแอ่นเข้าอยู่และทำรังเร็วขึ้น ถามว่ารังจริงกลิ่นมันเป็นอย่างไร กลิ่นน้ำลายนกแอ่น นกแอ่นย่อมคุ้นเคยดีอยู่แล้ว นกแอ่นจะทำรังข้างๆรังจริงที่นำไปติดไว้ในเวลาที่เร็วกว่าการใช้รังเทียม การใช้รังจริงต้องลงทุนสูงกว่ารังเทียม ซีดีชุดนี้ไปถ่ายทำบ้านนกแอ่นที่สำเร็จสูงสุดแล้ว เจ้าของบ้านนกแอ่นมีบ้านนกแอ่นหลายหลัง หลังที่ทำใหม่จะใช้วิธีการเช่นนี้ทุกหลัง และสำเร็จสูงสุดเหมือนกันทุกหลัง

ท่านคงมีคำตอบแล้วนะครับว่ารังแท้กับรังเทียมอันไหนดีกว่ากัน ส่วนเรื่องการใช้ฮอร์โมนเจ้าของบ้านนกแอ่นในซีดีชุดนี้ไม่ได้ใช้เลย ใช้แต่ขี้นกผสมน้ำสาดและลูบผนังแทนฮอร์โมน ขอให้ทุกท่านโชคดีค้นเจอเคล็ดลับเด็ดๆในการทำบ้านนกแอ่น

นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์

Monday, June 8, 2009

บทความของผมถูกขโมย(หลายรูปแบบ)

เรียนท่านผู้อ่านที่นับถือทุกท่าน

ผมได้รับเมลล์จากท่านผู้อ่านบทความของผมว่า มี Blog Site แห่งหนึ่ง คัดลอกบทความของผมแบบทุกตัวอักษรไปใช้ โดยแค่เปลี่ยนเฉพาะภาพถ่าย คัดลอกไปยี่สิบกว่าบทความ เขาถามผมว่ารู้จักเจ้าของ blog หรือไม่ เขาให้ชื่อ blog กับผม ผมก็ลองเข้าไปดู ปรากฎว่าเป็นความจริง ลอกมาแบบเนียนๆทุกตัวอักษร ผมเลยเข้าไปในช่องแสดงความคิดเห็นของบทความเขา บอกเขาว่ากำลังใช้บทความของผมโดยไม่ได้ขออนุญาต หรือกล่าวถึงเจ้าของบทความเลย เขาก็เลยลบช่องแสดงความคิดเห็นออก ผมก็เข้าไปโพสท์ในกล่องทักทาย(Shout Box) เขาก็เลยถอดกล่องทักทายออก เจ้าของ blog ไม่ได้ลงชื่อจริงที่อยู่จริงและรูปจริงเหมือนกับ blog ของผม ไม่กล้าแสดงตัวตนที่แท้จริง มีแต่ e-mail address กับ เบอร์โทรศัพท์ ผมให้ใช้บทความของผมได้ แต่ช่วยลงชื่อผมซึ่งเป็นเจ้าของบทความด้วย เพื่อคนที่เข้ามาอ่านทีหลังจะได้รู้ว่าเป็นบทความของผม ถ้าปล่อยไปนานๆอาจจะมีท่านผู้อ่านสับสนคิดว่าผมไปลอกบทความของเขามา

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมยังงงๆไม่หาย คือมีท่านผู้สนใจการทำบ้านนกแอ่นหลายๆท่านโทรศัพท์ไปคุยกับผมว่าได้อ่านหนังสือที่ผมเขียนเกี่ยวกับการทำบ้านนกแอ่น เขียนได้ดีมาก ได้ความรู้มาก โทรศัพท์ไปคุย อยากถามข้อมูลเพิ่ม ผมก็เลยสอบถามไปว่าได้หนังสือของผมมาอย่างไร เพราะผมยังไม่ได้เขียนหนังสือเลย เขาก็บอกว่ามีคนเอามาขายให้เย็บเล่มอย่างดี หนามากด้วย ผมจึงถึงบางอ้อโดยไม่ต้องไปบางอ้อ เพิ่งนึกขึ้นได้ว่ามีคนหัวใสกว่าผม พิมพ์บทความของผมทั้งหมดออกมาเย็บเล่มขาย เยี่ยมมากๆ นายแน่มาก ก็ทำได้ครับผมไม่ว่าอะไร ขอแค่อย่าลบชื่อผมออกจากบทความที่พิมพ์ไปเย็บเล่มขายก็พอ เพื่อให้ผู้ซื้อไปอ่านสามารถติดต่อหาผู้เขียนบทความคือผมได้ เมื่อเวลาเขามีข้อสงสัยอยากจะสอบถามผม ก็แค่นี้เอง

ผมก็แค่บอกกล่าวแก่ท่านผู้อ่านทุกท่านเพื่อปกป้องตัวเอง ไม่ได้คิดจะไปต่อว่าใครๆทั้งสิ้น ไม่อยากจะให้ตัวผมเองต้องมัวหมองกับเรื่องเหล่านี้ ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านเข้าใจผมด้วย

ขอแสดงความนับถือ
เทพชัย อริยะพันธุ์
Swiftlet Lover

Sunday, June 7, 2009

ที่ปรึกษาหรือที่สร้างปัญหา (Swiftlet House's Consultant)

การเริ่มต้นที่จะทำบ้านนกแอ่น สำหรับท่านที่ยังไม่มีข้อมูลใดๆเป็นเรื่องที่ยากมากๆสำหรับท่าน ไม่รู้จะเริ่มต้นนับหนึ่งอย่างไรดี ข้อมูลที่ถูกต้องก็หายาก ถามคนนู้นถามคนนี้ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่เรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจบ้านนกแอ่นมันโน้มน้าวจิตใจให้อยากทำอยากมีบ้านนกแอ่น เมื่ออยากทำอยากมีบ้านนกแอ่นเป็นของตนเอง ก็เริ่มสอบถามค้นหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ จนทำให้ได้เจอ "ที่ปรึกษา" จากเว็บต่างๆ หรือจากช่างที่เคยได้มีโอกาสทำบ้านนกแอ่นมาบ้างแล้ว ได้เห็นภายในบ้านนกแอ่นว่าเป็นอย่างไร ก็เลยเปลี่ยนตัวเองเป็น "ที่ปรึกษา" เสียเลย ถามว่า "ที่ปรึกษา" เหล่านี้ท่านได้รู้จักพื้นฐานความรู้เรื่องบ้านนกแอ่นของเขาอย่างเพียงพอหรือไม่ เขาพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้เรื่องบ้านนกแอ่นให้ท่านได้หรือไม่ แนะนำการดูแลบ้านนกแอ่นให้ท่านเมื่อบ้านนกแอ่นสร้างเสร็จแล้วหรือไม่ ตอบได้เลยว่าท่านเองก็ไม่มีความมั่นใจใน "ที่ปรึกษา" เหล่านี้ แต่เมื่ออยากจะทำอยากจะมีบ้านนกแอ่นเป็นของตนเอง ท่านก็จำเป็นต้องจ้าง "ที่ปรึกษา" เหล่านี้

การเป็น "ที่ปรึกษา" นั้นรายได้ดีเงินดีมาก ปกติค่าปรึกษาจะอยู่ที่หลังละประมาณ 300,000 - 500,000 บาท แล้วแต่จะตกลงกัน "ที่ปรึกษา" จะมีทั้งที่เป็นคนไทย คนมาเลย์ และ คนอินโดฯ คนมาเลย์จะมากกว่าเพื่อนเพราะเข้ามาด้วยวีซ่านักท่องเที่ยวและสามารถมาทำมาหากินเป็น "ที่ปรึกษา" ได้ด้วย มีทั้งที่รู้จริงและรู้ไม่จริง ที่ผมกล้าพูดเช่นนี้เพราะตั้งแต่ผมทำ Blog Site แห่งนี้ ผมได้ข้อมูลจากท่านผู้อ่านที่เล่าปัญหาต่างๆไปให้ผมได้รับฟังรับรู้ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้แก่กันและกัน ได้รับฟังถึงสภาพภายในบ้านนกแอ่นในที่ต่างๆหลายแห่งที่มีปัญหา ที่เกิดจากการจ้าง "ที่ปรึกษา" เหล่านี้ จะหาได้น้อยมากที่ติดตามผลอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่จะรับค่าปรึกษาแล้วก็หายไปเลย ถ้าจะให้ช่วยดูแลติดตามผลให้ก็ต้องมีสัญญาที่จะต้องให้ส่วนแบ่ง จะต้องมีเอี่ยวในการเก็บรังนกทุกครั้ง 30 % และมักจะอ้างเหตุผลว่าการดูแลมีค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง ค่าฮอร์โมนต่างๆที่ต้องมาฉีดให้ สารพัดข้ออ้างที่เจ้าของบ้านนกแอ่นใหม่ต้องยอมเขา เพราะเราไม่มีข้อมูลความรู้ มีหลายรายที่ยอมรับเงื่อนไขกลายเป็นสัญญาที่จำยอม(สัญญาทาส) 30 ปี เมื่อไม่สบายใจและสอบถามมาที่ผม ผมก็แนะนำให้เลิกสัญญา ไม่ต้องมาดูแลติดตามผลให้แล้วจะดูแลเอง ผมพร้อมจะให้ข้อมูลทุกอย่างที่ผมรู้แก่เขาแทน "ที่ปรึกษา" การบอกเลิกสัญญาไม่ต้องไปเกรงใจเขาหรอกเพราะเขาเอาเปรียบเรา เราลงทุนทุกบาททุกสตางค์ ยังต้องให้เขามามีเอี่ยวกับการเก็บรังนกทุกครั้ง มันเกินไปจริงๆ นี่คือจุดอ่อนที่ผู้ที่อยากทำอยากมีบ้านนกแอ่นเป็นของตนเองแต่ไม่มีความรู้ ระยะหลังๆนี้ Blog Site ของผมได้ช่วยให้ผู้ที่อยากทำอยากมีบ้านนกแอ่นเป็นของตนเองได้มีความรู้เพิ่มขึ้นเยอะ จะจ้าง "ที่ปรึกษา" ก็คุยได้ง่ายขึ้น มีชั้นมีเชิงไม่ถูกเอาเปรียบได้ง่ายๆ มีความรู้ที่ "ที่ปรึกษา" ไม่สามารถหลอกได้

ผมเองไม่เคยทำตัวเป็น "ที่ปรึกษา" เพราะผมไม่เคยคิดค่าปรึกษา ผมใช้คำว่าการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้แก่กันและกัน ผมเองยังค้นหาข้อมูลความรู้เรื่องบ้านนกแอ่นอยู่ตลอดเวลา ยังสนุกกับการได้ข้อมูลใหม่ๆตลอดเวลา ปัญหาของบ้านนกแอ่นแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน การแก้ไขก็ต่างกัน จึงมีอะไรที่ใหม่ๆให้เรียนรู้ตลอดไป ผมอยากเป็น "ผู้เชี่ยวชาญ" มากกว่าเป็น "ที่ปรึกษา" อยากเป็น "ผู้ให้ความรู้" มากกว่าเป็นผู้ "รับค่าปรึกษา"

ผมคงไม่เป็นผู้ที่สร้างปัญหาให้แก่ท่าน และไม่เป็น "ที่ปรึกษา" ที่รับค่าปรึกษาจากท่าน แต่ผมจะเป็นเพื่อนคุยของท่านในยามที่ท่านมีปัญหาเรื่องบ้านนกแอ่น ขอให้ท่านเจอ "ที่ปรึกษา" ที่ดีๆมีน้ำใจ ไม่เอาเปรียบท่าน ขอให้ทุกท่านโชคดี

นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์





แนะนำแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดยะลา

แนะนำแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดยะลา
ยะลา หรือ ยะลอ แปลว่า "แห" เดิมเป็นหนึ่งในเจ็ดหัวเมืองตอนใต้ ขึ้นอยู่กับมณฑลปัตตานี ต่อมาได้ประกาศเป็นจังหวัด ตามระเบียบบริหารการปกครองใหม่เมื่อปี 2476 ปัจจุบันจังหวัดยะลามีพื้นที่ 4,521.077 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็น 8 อำเภอ 58 ตำบล 376 หมู่บ้าน มีอำเภอเมือง อำเภอรามัน อำเภอยะหา อำเภอบันนังสตา อำเภอเบตง อำเภอธารโต อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลาตั้งอยู่ตอนใต้สุดของประเทศไทย ดั่งคำขวัญที่ว่า "ยะลา : ใต้สุดสยามเมืองงามชายแดน" อยู่ห่างจากกรุงเทพฯโดยทางรถไฟประมาณ 1,039 กิโลเมตร หรือโดยทางรถยนต์ตามถนนเพชรเกษมประมาณ 1,440 กิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีผังเมืองสวยงามแห่งหนึ่งของประเทศไทย

หลักเมืองยะลา

หลักเมืองยะลา
หลักเมืองยะลาสร้างขึ้นจากแนวความคิดของ พ.ต.อ.ศิริ คชหิรัญ ครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาร่วมกับบรรดาข้าราชการซึ่งมีความเห็นตรงกันว่าเดิมจังหวัดยะลาเป็นอาณาเขตหนึ่งในบริเวณ 7 หัวเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดปัตตานี เพิ่งแยกออกเป็นเมืองหนึ่งต่างหากในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (ในสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ. 2335) ที่ตั้งตัวเมืองยะลาเดิมมิได้อยู่ในที่ปัจจุบัน แต่ได้โยกย้ายมาแล้วถึง 4 ครั้งด้วยกัน ด้วยเหตุดังกล่าวท่านจึงให้ข้าราชการและประชาชนชาวจังหวัดยะลาได้พร้อมใจกันสร้างหลักเมืองขึ้นที่บริเวณศูนย์วงเวียนหน้าศาลากลางจังหวัดโดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504 เวลา 10.30 น. ปัจจุบันหลักเมืองยะลาเป็นศูนย์กลางของเมืองยะลา ทั้งนี้เนื่องจากผังเมืองยะลาได้ออกแบบไว้เหมาะเจาะกันพอดีรอบๆวงเวียนหลักเมือง อันเป็นวงเวียนชั้นในสุดเป็นที่ทำการของส่วนราชการต่างๆ ได้แก่ ศาลากลางจังหวัด ศาลจังหวัด กองกำกับการตำรวจภูธร สำนักงานที่ดิน สำนักงานเกษตร สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และที่ว่าการอำเภอเมืองยะลา บรรดาถนนทุกสายที่มาจากอำเภอต่างๆของจังหวัดจะมารวมกันที่หลักเมือง

วัดคูหาภิมุข

วัดคูหาภิมุข
ถ้ำคูหาภิมุขตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง ไปตามเส้นทางยะลา-หาดใหญ่ ประมาณ 7 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายเข้าวัดอีก 1 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุที่สำคัญคือ พระพุทธไสยาสน์ สร้างสมัยศรีวิชัยประมาณ 1,300 ปีเศษ ภายในมีถ้ำต่างๆเช่น ถ้ำมืด ถ้ำ ภปร. มีหินงอกหินย้อย และหยดน้ำไหลรินจากโขดหินสวยงามยิ่งนัก หยดเกร็ดเพชรระยิบระยับตา ซึ่งในปี 2539 ถ้ำคูหาภิมุขได้รับรางวัลการประกวดแหล่งท่องเที่ยวประเภทธรรมชาติของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

พระมหากัจจายนะ

พระมหากัจจายนะ
พระมหากัจจายนะ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2505 ประดิษฐานอยู่ภายในวัดเมืองยะลา อยู่กลางแจ้งภายในวัด องค์ใหญ่สวยงาม หากหมั่นทำความดีเมื่อมาขอพรจากท่านมักจะประสบความสำเร็จ อยู่ห่างจากศาลากลางไปทางถนนสุขยางค์ทางออกมุ่งสู่อำเภอเบตงประมาณ 1 กิโลเมตร อยู่ด้านขวามือตรงข้ามกับโรงเรียนตำรวจภูธร 9 (กองบัญชาการส่วนหน้า)

วัดพุทธาธิวาส

วัดพุทธาธิวาส
พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ ตั้งอยู่ ณ วัดพุทธาธิวาส ถนนรัตนกิจ ในตัวเมืองเบตง โดยตัวเจดีย์ตั้งอยู่บนเนินเขามีขนาดความกว้าง 39 เมตร สูง 39.9 เมตร หรือขนาดความสูงเทียบเท่าตึก 13 ชั้น เป็นมหาธาตุเจดีย์ที่สวยงามและขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ เป็นศิลปกรรมแบบศรีวิชัยประยุกต์ มหาเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นจากความคิดและการดำเนินการของอดีตประธานศาลฏีกา นายสวัสดิ์ โชติพานิช เพื่อเฉลิมฉลองและถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา

เขื่อนบางลาง

เขื่อนบางลาง
เขื่อนบางลางในระหว่างการเดินทางด้วยรถยนต์จากตัวเมืองยะลาสู่อำเภอเบตง บนเส้นทางหลวงสายยะลา-เบตง สามารถแวะชมทัศนียภาพอันสวยงามของเขื่อนบางลางได้ที่บ้านบางลาง ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา ซึ่งห่างจากตัวเมืองยะลา 58 กิโลเมตร และเข้าไปในตัวเขื่อนอีกประมาณ 12.5 กิโลเมตร ตัวเขื่อนบางลางสร้างปิดกั้นแม่น้ำปัตตานี ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ที่ทิวเขาสันกาลาคีรี สันปันน้ำระหว่างไทยกับมาเลเซียในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ด้วยฝีไม้ลายมือมนุษย์ทำให้พื้นที่บริเวณเหนือเขื่อน กลายสภาพเป็นทะเลสาปน้ำจืดกลางหุบเขาขนาดใหญ่ซึ่งล้อมรอบไปด้วยความเขียวขจีจากพันธุ์พืชพันธุ์ไม้นานาชนิดและภูเขาน้อยใหญ่ที่ทอดตัวเรียงรายสลับซับซ้อนโอบล้อมอยู่ ทิวทัศน์ที่สวยงามเช่นนี้ มีอาคารบ้านพักตากอากาศ ห้องจัดประชุม ร้านอาหาร สนามเทนนิส สนามเปตอง สนามกอล์ฟ สนามฟุตบอล แพล่องชมทัศนียภาพ ไว้บริการให้ความสะดวกแก่ผู้มาเยือน จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นทางเลือกในการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจอีกแห่งหนึ่ง นอกจากจะเหมาะต่อการท่องเที่ยวแล้วเขื่อนบางลางยังคงคุณสมบัติของเขื่อนเอนกประสงค์ตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแห่งแรกในภาคใต้ไว้ได้เช่นเดิมคือ ช่วยในการป้องกันอุทกภัย การชลประทาน การผลิตกระแสไฟฟ้าและการประมง (สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม,ติดต่อบ้านพักโทรฯ 0-7329-9237-8, 0-7329-7099 ล่องเรือหรือแพชมทิวทัศน์ทะเลสาปเหนือเขื่อน โทรฯ 0-7328-1063-66 ต่อ 2291)

วิถีชีวิตของชาวบ้านรอบๆเมืองยะลา

วิถีชีวิตของชาวบ้านรอบๆเมืองยะลา
ยะลาเป็นเมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีธรรมชาติที่สวยงามอุดมสมบูรณ์ ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดำเนินตามรอยพระบาทชีวิตความเป็นอยู่แบบพอเพียง มีอาหารการกินที่หลากหลายทั้ง ไทย จีน มุสลิม ผู้คนรักใคร่กลมเกลียว เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความวุ่นวายทั้งหลายที่เกิดเป็นเพียงภาพลวงตา อีกไม่นานก็จะหายไป เพราะเขาเองก็เบื่อเต็มทนแล้วเพราะตั้งแต่วันแรกที่หลงผิดชีวิตยังหาความสุขไม่ได้ จะขอกลับมาเป็นคนดีของสังคมเร็วๆนี้

อานิสงส์และบุญกุศลใดๆ

อานิสงส์ใดๆที่เกิดขึ้นจากการได้มีโอกาสเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ ข่าวสารและวิชาการเกี่ยวกับการเลี้ยงและทำบ้านนกแอ่น ขอมอบแด่ คุณพ่อสุนันท์-คุณแม่อำนวย อริยะพันธุ์ พี่กัญญา ศรีสวัสดิ์และครอบครัว พี่ดวงพร เพชรโชติและครอบครัว น้องนิชา สุตะเมืองและครอบครัว คุณอ้อย(ภรรยา) น้องหนึ่ง(ลูกชาย) น้องฟรังก์(ลูกสาว) น้องดิว(ลูกสะใภ้) น้องพีร์(หลานชาย) ตลอดจนคณาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประศาสตร์วิชาความรู้ให้แก่ศิษย์โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ขอบุญกุศลแห่งวิทยาทานทั้งหมดที่ข้าพเจ้าได้กระทำจงมีแด่ทุกท่านที่ข้าพเจ้าได้เคยรู้จักและเกี่ยวข้อง ให้ประสพแต่ความสุข ความเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฎิภานธนสารสมบัติทุกประการเทอญ เทพชัย อริยะพันธุ์