Sunday, March 30, 2008

วัดช่องลมวัดที่นกแอ่นอาศัยอยู่โดยไม่มีเครื่องช่วยใดๆ

ชื่อแหล่ง : วัดสุทธิวาตวราราม (วัดช่องลม)
ที่ตั้ง : ตั้งอยู่บริเวณปากอ่าวสมุทรสาคร ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง : รถยนต์ส่วนตัว : ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) จากตัวเมืองมหาชัยไปทางสมุทรสาคร เลยสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนไปประมาณ 200 เมตร สังเกตซ้ายมือมีปั๊มน้ำมันเอสโซ่ ซึ่งเป็นปั๊มขนาดใหญ่ เลี้ยวซ้ายผ่านปั๊มน้ำมันเข้าไปยังสุขาภิบาลท่าฉลอม ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงวัดช่องลม


วัดช่องลม หรือวัดสุทธิวาตวราราม ตั้งอยู่บริเวณปากอ่าวไทย มีทัศนียภาพธรรมชาติที่สวยงาม มีลมทะเลตลอดวัน ในวิหารหลวงปู่แก้ว มีนกแอ่นกินรังอาศัยอยู่นับพันตัว สามารถศึกษาพฤติกรรมของนกแอ่นเหล่านี้ได้ จะมีนักท่องเที่ยวมาชมนกแอ่นตลอดปีเพราะวัดช่องลมเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดสมุทรสาคร



นกแอ่นเหล่านี้อาศัยอยู่โดยไม่มีเครื่องช่วยใดๆ ไม่มีเสียงเรียกนก ไม่มีเครื่องทำความชื้น ไม่มีไม้ตีรัง อาศัยทำรังตามลวดลายแกะสลักเหนือผนังด้านหน้า และช่องเหนือฝ้าเพดาน จึงเป็นที่น่าสนใจศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าเราสามารถเรียนแบบจากที่นี้ได้เราจะสามารถทำบ้านนกแอ่นแบบประหยัดต้นทุนได้มากที่สุด






















นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์




















ลำโพงเสียงเรียกใน







เมื่อนกแอ่นถูกเรียกด้วยเสียงเรียกนอกเพื่อนำเข้าสู่ภายในบ้านนกแอ่นแล้ว หน้าที่ต่อไปจึงเป็นบทบาทของเสียงเรียกใน (Internal swiftlet chirp) เสียงเรียกในเป็นเสียงที่เปิดเพียงพอได้ยิน ให้นกแอ่นได้ยินเสียงเหมือนมีเพื่อนนกแอ่นอื่นๆอีกมากมายอาศัยอยู่
ลำโพง Tweeter ขนาดเล็ก (รูปข้างบนทั้ง 4 รูป) เป็นลักษณะของลำโพงที่ใช้เพื่อเปิดเสียงเรียกใน ลำโพง tweeter นี้จะต้องติด condenser ด้วยเพื่อให้เสียงสดใสขึ้น การติดตั้งลำโพงเสียงเรียกใน ให้ติดตั้งกระจายทั่วบริเวณไม้ตีรัง ส่วนจำนวนลำโพงที่ติดตั้งก็ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ แต่มีข้อสังเกตที่แน่ชัดว่า นกแอ่นจะเลือกทำรังใกล้ลำโพงก่อนจุดอื่น ดังนั้นการติดตั้งลำโพงเสียงเรียกในจึงควรติดตั้งให้มากไว้ก่อนเป็นดีที่สุด
นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์



Saturday, March 29, 2008

ลำโพงเสียงเรียกนอก




เสียงเรียกนกแอ่นเป็นหัวใจของความสำเร็จในการทำบ้านแอ่น โดยเพาะเสียงเรียกนอก (Swiftlet external chirp) ลำโพงที่ใช้คือ Tweeter (รูปข้างบนทั้ง 3 รูป) รูปทรงลักษณะประมาณนี้ จะใช้ยี่ห้ออะไรก็ทดลองฟังเสียงดู ทดสอบดูคุณภาพของเสียง ส่วนใหญ่จะต้องติด Condenser เพื่อเพิ่มความสดใสของเสียง การติดตั้งลำโพงต้องติดตั้งตรงช่องทางเข้า-ออก (In-Out Hole) 2 ตัว ถัดจากช่องทางเข้า-ออก 4 เมตร ติดตั้งลำโพงเสียงเรียกนอกอีก 1 ตัว และทุกๆ 4 เมตรถัดไปติดตั้งลำโพงเสียงเรียกนอกอีก 1 ตัว จนถึงภายในสุดของบ้านนกแอ่น ที่ติดตั้งลำโพงลักษณะนี้ก็เพื่อให้เสียงเรียกนอกนำนกแอ่นบินตามเสียงเข้าสู่ภายในสุดของบ้านนกแอ่นใหม่เพื่อสำรวจและเข้าอยู่อาศัย เสียงเรียกนอกสำคัญสุดๆ การเลือกลำโพงจึงต้องให้ความสำคัญด้วย
นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์


เครื่องวัดอุณหภูมิและความชื้น อุปกรณ์ที่ต้องมีสำหรับบ้านนกแอ่น




เป็นที่ทราบกันดีว่าอุณหภูมิและความชื้นเป็นหัวใจสำคัญของการทำบ้านนกแอ่น นกแอ่นชื่นชอบอุณหภูมิ 28 องศาเซนเซียส ความชื้น 85% วิธีที่จะรู้ว่าอุณหภูมิและความชื้นในบ้านนกแอ่นอยู่ที่ระดับเท่าไรคือการใช้เครื่องมือวัด เครื่องมือวัดอุณหภูมิและความชื้นมีหลายชนิด เลือกซื้อให้เหมาะกับการใช้งาน เป็นเครื่องมือที่ต้องมีเป็นอย่างยิ่ง ทำบ้านนกแอ่นนั้นไม่ยาก ที่ยากคือการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้ได้ตามความชื่นชอบของนกแอ่น
นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์


Friday, March 28, 2008

รังนกแอ่นธุรกิจหมื่นล้านที่ยังขาดการส่งเสริม

การทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรังนกแอ่นมักจะถูกคิดว่าราคาแพง ราคาดี น่าทำ น่าลงทุน แต่พอจะเข้าสู่ธุรกิจนี้จริงๆกลับพบว่าการหาข้อมูล การหาผู้รู้ การหาที่ปรึกษานั้น หายากจริงๆ ไม่เหมือนธุกิจอื่นๆที่มีหน่วยงานต่างๆคอยดูแลให้คำแนะนำ สนับสนุนและส่งเสริม สมมุติว่า อยากทำธุรกิจบ้านนกแอ่น แวะไปที่กระทรวงเกษตรฯเพื่อปรึกษาหาข้อมูล รายละเอียดและขอการส่งเสริม ไม่ทราบว่าจะมีหรือไม่? นำโครงการทำบ้านนกแอ่นไปเสนอธนาคารเพื่อขอกู้ยืมเงินไปลงทุน ธนาคารจะกล้าให้หรือไม่? อยากได้รับความรู้การทำบ้านนกแอ่นจะไปอบรมหรือศึกษาจากสถาบันไหน? มีหน่วยงานใดที่ศึกษา ค้นคว้า ทำวิจัยเรื่องการทำบ้านนกแอ่นอย่างจริงจัง มีหรือไม่?

ในประเทศมาเลเซียมี 3 หน่วยงานที่ดูแล ส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจัง ดังต่อไปนี้:-

1. กระทรวงเกษตร : กำหนดพื้นที่ทั่วประเทศมาเลเซียว่าพื้นที่บริเวณใดที่เหมาะสม สามารถทำบ้านนกแอ่นได้และโอกาสสำเร็จสูง มีข้อมูลทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องให้พร้อมสรรพ

2. Jabatan Haiwan : มีหน้าที่ให้ความรู้ จัดอบรม สัมมนา ให้รายละเอียดทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการทำบ้านนกแอ่น ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองความรู้ ในประเทศมาเลเซียต่อไปใครที่ไม่มีประกาศนียบัตรรับรองความรู้ใบนี้ จะไม่สามารถขออนุญาตทำบ้านนกแอ่นได้ ผู้เข้ารับการอบรมจะเป็นผู้มีความรู้เรื่องการทำบ้านนกแอ่นจริงๆ มีการจัดอบรมให้ทุกเดือน

3. Bank Pertanian : ธนาคารเปอร์ตาเนี่ยนจะทำในส่วนการให้กู้ยืมเงินไปลงทุน ผู้ผ่านการอบรมและรับประกาศนียบัตรรับรองความรู้สามารถกู้ยืมเงินได้รายละ 10-50 ล้านบาท ทางธนาคารเองก็มีผู้ที่รู้เรื่องและเข้าใจในธุรกิจการทำบ้านนกแอ่นดี

กลับมาดูที่ประเทศไทยของเรา กระทรวงเกษตรฯดูแลเรื่องการทำบ้านนกแอ่น ไปถึงไหนแล้วครับ? สถาบันที่ให้ความรู้ในเรื่องนี้ ไปถึงไหนแล้วครับ? ธนาคารทุกธนาคารแหล่งกู้ยืมดอกเบี้ยสูง กล้าให้กู้ยืมเงินเพื่อทำบ้านนกแอ่นหรือไม่? ไปถึงไหนแล้วครับ? ครับ ครับ ครับ มีแต่คำถามจริงๆ หาคำตอบไม่เจอ ดังนั้นจึงต้องงมกันไปงมกันมา เดากันไปเดากันมา ถูกบ้างผิดบ้าง ธุรกิจหมื่นล้านจึงขาดการส่งเสริมอย่างจริงจัง

ธุรกิจบ้านนกแอ่นยังอยู่ในขั้นอนุบาลสำหรับประเทศไทย หากส่งเสริมอย่างจริงจัง อย่างถูกหลักถูกวิธี และ ปกป้องธุรกิจนี้ให้ดีที่สุด ธุรกิจนี้จะนำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยอีกมากมาย ประเทศจีนกำลังเจริญเติบโตมาก ธุรกิจแข็งแกร่งมาก นักธุรกิจจีนทั่วโลกนิยมกินรังนกแอ่นที่สุด ตลาดใหญ่มากๆ ธุรกิจนี้น่าส่งเสริมที่สุด

นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์

Wednesday, March 26, 2008

การใช้รังนกแอ่นเทียมในบ้านนกแอ่นใหม่

มีความพยายามที่จะเร่งให้นกแอ่นตัดสินใจเข้าอยู่ในบ้านนกแอ่นใหม่เร็วขึ้น หนึ่งในหลายๆวิธีมีการใช้รังนกแอ่นเทียมซึ่งทำจากไฟเบอร์สีขาว ทำรูปทรงคล้ายรังนกแอ่น (รูปข้างบน) ปรากฎว่านกแอ่นยอมรับรังนกแอ่นเทียมโดยทำรังเสริมเพิ่มให้ได้ขนาดที่ต้องการ การติดรังนกแอ่นเทียมให้ติดกระจายทั่วบริเวณไม้ตีรัง หลังจากนกแอ่นใช้รังนกแอ่นเทียมออกไข่ กกไข่ จนลูกนกแอ่นโตบินได้แล้วเราจึงเก็บรังนกแอ่นเทียมออก นำไปติดตรงบริเวณอื่นแทน

การที่เราใช้รังนกแอ่นเทียมช่วยในบ้านนกแอ่นใหม่ ก็เพราะนกแอ่นที่เราเรียกให้เข้ามาอยู่อาศัยจะเป็นคู่นกแอ่นใหม่ที่เพิ่งจับคู่เป็นครั้งแรก และเพิ่งจะมีอายุ 8 เดือนกว่าๆ การทำรังแรกมักจะไม่ชำนาญ จึงมักจะเอาง่ายไว้ก่อน เช่น มำรังที่มุม หรือทำบนรังนกแอ่นเทียม เจ้าของบ้านนกแอ่นใหม่ย่อมอยากได้จำนวนนกแอ่นมากกว่าจำนวนรังนกแอ่น เพราะว่าหลังจากนกแอ่นเข้าอยู่มากๆแล้วย่อมได้รังนกแอ่นมากๆตามมาเอง ในระยะแรกให้เอาปริมาณนกแอ่นให้ได้มากไว้ก่อน การใช้รังนกแอ่นเทียมจึงเป็นการดึงดูดเพื่อให้ได้ปริมาณนกแอ่นเข้าอยู่อาศัยมากๆนั่นเอง

นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์

Tuesday, March 25, 2008

การควบคุมอุณหภูมิและความชื้นในบ้านนกแอ่น

จากการสำรวจสภาพภายในถ้ำธรรมชาติที่นกแอ่นอาศัยโดยใช้เครื่องมือวัดอุณหภูมิและความชื้น พบว่าอุณหภูมิภายในถ้ำจะอยู่ที่ประมาณ 25 - 30 อาศาเซนเซียส ความชื้นประมาณ 80 -85 % ดังนั้นจึงได้ข้อสรุปว่านกแอ่นน่าจะชอบอุณหภูมิและความชื้นดังที่ได้กล่าวถึง การทำบ้านนกแอ่นจึงพยายามที่จะทำอุณหภูมิให้ได้ 28 องศาเซนเซียส และ ความชื้นให้ได้ 85 %

การควบคุมอุณหภูมิและความชื้นมักมีความสัมพันธ์กัน การเพิ่มความชื้นจะทำให้อุณหภูมิลดลง และถ้าเพิ่มความชื้นให้ได้ 85 % แต่อุณหภูมิลดลงต่ำกว่า 25 องศาเซนเซียส ก็ควรระวัง เพราะอุณหภูมิจะไปทางด้านเย็น ซึ่งเย็นไปนกแอ่นก็ไม่ชอบ ดังนั้นจึงควรคำนึงถึงอุณหภูมิเป็นหลัก ถ้าอุณหภูมิได้ระดับที่ 28 องศาเซนเซียส แต่ความชื้นอาจจะไม่ถึง 85 % อาจจะอยู่ที่ 75%-80% ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่นกแอ่นรับได้

การควบคุมอุณหภูมิและความชื้นในบ้านนกแอ่นมีหลายแบบ บางแห่งใช้การทำรางน้ำรอบๆกำแพงพนังด้านในบ้าน บางแห่งทำสระน้ำขนาดเล็กกลางห้อง บางแห่งใช้อ่างน้ำขนาดใหญ่มีฉีดละอองน้ำหรือทำน้ำพุ ฯลฯ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละผู้เชี่ยวชาญ

ในปัจจุบันนิยมใช้เครื่องทำความชื้น (Humidifier) มีหลายแบบ หลายยี้ห้อให้เลือกใช้ มีข้อดีคือใช้ง่าย กินพื้นที่น้อย เพียงต่อท่อน้ำเข้าสู่ตัวเครื่องแล้วเสียบปลั๊กเครื่องก็จะทำงานพ่นละอองหมอกออกมา ละอองหมอกจะผสมกับอากาศที่ร้อนทำให้ลดอุณหภูมิของบ้านนกแอ่นลงได้ และเพิ่มความชื้น การใช้เครื่องทำความชื้นทำให้พื้นในบ้านนกแอ่นไม่เปียกแฉะ เมื่อขี้นกแอ่นหล่นบนพื้นจึงค่อยๆแห้ง ไม่เหม็นมาก เก็บกวาดง่าย

อุณหภูมิและความชื้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง นกแอ่นจะรู้สึกสบายช่วยให้ตัดสินใจเข้าอยู่อาศัยได้เร็วขึ้น อุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมช่วยให้นกแอ่นขยายพันธุ์ได้เร็วขึ้น ได้จำนวนรังนกแอ่นเพิ่มขึ้น
จำให้ขึ้นใจไว้ "อุณหภูมิ 28 องศาฯ ความชื้น 85%"

นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์

Sunday, March 23, 2008

สูตรวัดความสำเร็จของบ้านนกแอ่น

สร้างบ้านตามใจผู้อยู่ สร้างอู่ตามใจผู้นอน สร้างบ้านนกแอ่นต้องตามใจนกแอ่นที่สุด ต้องให้นกแอ่นชื่นชอบที่สุด แล้วท่านจะพบกับความสำเร็จ

สูตรวัดความสำเร็จของบ้านนกแอ่น จากบทความที่เคยตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์หนานหยางซางเป้าฉบับวันที่ 25 พฤศจิกายน 2004 ประเทศมาเลเซีย (Nan Yang Shang Pau on 25th November 2004) เป็นบทความที่ผ่านการสรุปของผู้เชี่ยวชาญการทำบ้านนกแอ่นของประเทศมาเลเซีย ได้แบ่งระดับของบ้านนกแอ่นที่ล้มเหลวและประสบความสำเร็จไว้ 3 ระดับดังนี้:-

ระดับที่ 1 บ้านนกแอ่นที่ล้มเหลวไม่ประสบความสำเร็จ คือ ไม่สามารถดึงดูดนกแอ่นมากกว่า 50 ตัว เข้าอยู่อาศัย และได้รังนกแอ่นน้อยกว่า 5 รัง ในระยะเวลา 6 เดือน

ระดับที่ 2 บ้านนกแอ่นที่เกือบจะผ่านขีดระดับความล้มเหลวแต่ยังไม่ผ่าน 100 % คือ ไม่สามารถดึงดูดนกแอ่นมากกว่า 100 ตัว เข้าอยู่อาศัย และได้รังนกแอ่นน้อยกว่า 10 รัง ในระยะเวลา 6 เดือน

ระดับที่ 3 ระดับ A คือ บ้านนกแอ่นที่ประสบความสำเร็จแน่นอน ระดับที่ยิ้มได้ ยิ้มระรื่น ยิ้มอย่างมีความสุข ระดับ A แบ่งออกเป็น 8 ระดับ ดังนี้:-

1 A สามารถดึงดูดนกแอ่นให้เข้าอยู่อาศัยได้มากกว่า 150 ตัว และได้รังนกแอ่น 15 รัง ในระยะเวลา 6 เดือน

2 A สามารถดึงดูดนกแอ่นให้เข้าอยู่อาศัยได้มากกว่า 200 ตัว และได้รังนกแอ่น 20 รัง ในระยะเวลา 6 เดือน

3 A สามารถดึงดูดนกแอ่นให้เข้าอยู่อาศัยได้มากกว่า 250 ตัว และได้รังนกแอ่น 25 รัง ในระยะเวลา 6 เดือน

4 A สามารถดึงดูดนกแอ่นให้เข้าอยู่อาศัยได้มากกว่า 300 ตัว และได้รังนกแอ่น 35 รัง ในระยะเวลา 6 เดือน

5 A สามารถดึงดูดนกแอ่นให้เข้าอยู่อาศัยได้มากกว่า 350 ตัว และได้รังนกแอ่น 40 รัง ในระยะเวลา 6 เดือน

6 A สามารถดึงดูดนกแอ่นให้เข้าอยู่อาศัยได้มากกว่า 400 ตัว และได้รังนกแอ่น 45 รัง ในระยะเวลา 6 เดือน

7 A สามารถดึงดูดนกแอ่นให้เข้าอยู่อาศัยได้มากกว่า 450 ตัว และได้รังนกแอ่น 50 รัง ในระยะเวลา 6 เดือน

8 A สามารถดึงดูดนกแอ่นให้เข้าอยู่อาศัยได้มากกว่า 500 ตัว และได้รังนกแอ่น 55 รัง ในระยะเวลา 6 เดือน

ความสำเร็จระดับ A ไม่ว่าจะเป็น 1 A, 2 A , หรือ 8 A ถือว่าท่านประสบความสำเร็จในการทำบ้านนกแอ่น Jackpot แตกแน่นอนแล้ว นั่งนับนกแอ่นทุกๆเย็นสบายใจ ทุกๆปีรายได้ของท่านจะเพิ่มขึ้นตลอด

นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์

Saturday, March 22, 2008

เสียงเรียกนกแอ่นหัวใจของความสำเร็จ(Swiftlet Chirp)

การทำบ้านนกแอ่นใหม่นั้นเสียงเรียกนกแอ่นคือหัวใจของความสำเร็จ ประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้ายุทธจักรในเรื่องเสียงเรียกนกแอ่น มีทุกแบบ ไม่ว่าจะเป็นเสียงเรียกนกแอ่นที่บันทึกจากถ้ำนกแอ่นหลายๆแห่ง เสียงนกแอ่นใต้สะพานชื่อดังของอินโดนีเซียที่มีนกแอ่นอาศัยอยู่เป็นแสนๆ เสียงเรียกในบ้านนกแอ่นที่ประสบความสำเร็จสูงสุด เสียงนกแอ่นเรียกคู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ เสียงลูกนกแอ่น ฯลฯ

เสียงเรียกนกแอ่นแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ เสียงเรียกนอก (Swiftlet external chirp) และ เสียงเรียกใน (Swiftlet internal chirp) เสียงเรียกนอกใช้สำหรับเรียกนกแอ่นให้เข้าชมและสำรวจบ้านนกแอ่นใหม่ว่าน่าอยู่หรือไม่ ทางเข้า-ออกสะดวก ที่เกาะพักและทำรังมากเพียงพอที่จะสร้างกลุ่มใหม่ (New colony) อุณหภูมิและความชื้นเหมาะสม ปราศจากศัตรูของนกแอ่นทั้งปวง ส่วนเสียงเรียกในใช้สำหรับกล่อมและเชิญชวนให้นกแอ่นพักอาศัย มีเสียงนกแอ่นจู๋จี๋และเสียงลูกนกแอ่นเป็นหลัก


เสียงเรียกนกแอ่นส่วนใหญ่จะอัดลงแผ่น CD ความจุเต็มแผ่นประมาณ 600-700 MB เล่นได้ประมาณ 1 ชั่วโมง ขายแผ่นละประมาณ 500-2,500 บาท ปัจจุบันมีบันทึกลง Memory drive ชนิดต่างๆเพื่อให้เล่นได้นานหลายชั่วโมงตามที่ต้องการ และขึ้นอยู่กับชนิดของเครื่องเสียงที่เลือกใช้ ในประเทศไทยหาซื้อยาก มีชนิดเสียงให้เลือกน้อยและราคาแพง สั่งซื้อทางWebจากประเทศอินโดนีเซียหรือมาเลเซียจะถูกกว่า แต่ถ้าให้ง่ายโทรศัพท์มาคุยกับผมดีที่สุด

นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์

Friday, March 21, 2008

อะไรคือส่วนประกอบสำคัญของบ้านนกแอ่น?

ผมจะนำเข้าสู่ภายในบ้านนกแอ่น ส่วนที่ท่านอยากรู้มากที่สุดและหาโอกาสเข้าดูภายในบ้านนกแอ่นได้ยากที่สุด บ้านนกแอ่นแต่ละแห่งจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเดิมของบ้านแต่ละหลัง ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่และจำนวนชั้นของอาคาร แต่ที่ต้องมีเหมือนๆกันคือ ส่วนประกอบสำคัญ 3 ประการต่อไปนี้:-
  1. ช่องทางเข้า-ออก (Entrance hole or In-out hole)
  2. พื้นที่สำหรับบิน (Swiftlet roving area)
  3. พื้นที่เกาะพักและทำรัง (Swiftlet nesting area)

1. ช่องทางเข้า-ออก (Entrance hole or In-out hole) ช่องทางเข้า-ออกควรมีขนาด 40 x 80 เซนติเมตร สำหรับบ้านนกแอ่นใหม่ เพื่อให้นกแอ่นบินเข้า-ออกได้สะดวก และควรมีช่องทางเข้า-ออกเพียงช่องเดียว เพราะยิ่งมากช่อง แสงก็จะเข้าสู่ภายในบ้านนกแอ่นมากขึ้น ที่ปากทางเข้า-ออกจะเป็นที่ติดตั้งลำโพงเสียงเรียกนอก (Swiftlet external chirp) เสียงเรียกนอกเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการดึงดูดให้นกแอ่นเข้าสู่บ้านนกแอ่นใหม่

2. พื้นที่สำหรับบิน (Swiftlet roving area) นกแอ่นเป็นนกที่ชอบสนุก จะบินร่อน บินวน ทักทาย หยอกล้อ การมีพื้นที่สำหรับบินที่เพียงพอในบ้านนกแอ่น จะทำให้นกแอ่นรู้สึกปลอดโปร่ง ไม่อึดอัด เป็นที่สำหรับลูกนกแอ่นหัดบินก่อนออกสู่โลกภายนอก

3. พื้นที่เกาะพักและทำรัง (Swiftlet nesting area) นกแอ่นเกาะพักและทำรังบนไม้ตีรังที่ตียึดตั้งฉากกับเพดาน การมีพื้นที่ของไม้ตีรังที่เพียงพอ ง่ายต่อการเข้าเกาะพักและทำรัง ทำให้นกแอ่นคู่ใหม่ตัดสินใจเข้าอยู่บ้านนกแอ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น ส่วนของพื้นที่เกาะพักและทำรังจะติดตั้งลำโพงเสียงเรียกใน (Swiftlet internal chirp) กระจายไปทั่วบริเวณเพื่อให้นกแอ่นได้ยินเสียงเหมือนมีเพื่อนๆอยู่ เพื่อการตัดสินใจเข้าอยู่อย่างถาวรตลอดไป

ส่วนของพื้นที่เกาะพักและทำรัง คือส่วนที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องอุณหภูมิและความชื้นเป็นอย่างยิ่ง อุณหภูมิที่นกแอ่นชื่นชอบที่สุด 28 องศาเซนเซียส ความชื้นที่เหมาะสมที่สุด 85 %

นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์

Wednesday, March 19, 2008

การตีไม้รังแบบแถว

ภาพข้างบนคือการตีไม้รังแบบแถว การตีไม้รังแบบแถวนั้นทำได้ง่ายและรวดเร็ว มีมุมน้อย จะมีไม้ซอยบ้างก็เพื่อยึดจับให้ไม้แถวแข็งแรงมั่นคงขึ้น บ้านนกแอ่นใหม่ที่มีเนื้อที่มากหรือหลังใหญ่ๆต้องใช้ไม้จำนวนมากมักจะเลือกตีไม้รังแบบแถว แต่ละแถวห่างกัน 35-40 เซนติเมตร ถ้านกแอ่นยอมรับและทำรังบนไม้ตีรังแบบแถว จะได้รังนกแอ่นที่มีรูปครึ่งถ้วยสวยงามราคาดี
นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์

การตีไม้รังแบบกล่องและตีไม้มุมกล่อง

ภาพข้างบนนี้คือการตีไม้รังแบบกล่องและตีไม้ปิดมุมกล่อง ขนาดของกล่องกว้าง 35-40 เซนติเมตร
ยาว 100 เซนติเมตร ไม้ตีมุม 15 เซนติเมตร การตีไม้รังแบบนี้จะได้พื้นที่เกาะและทำรังมาก การที่ตีไม้ปิดมุมกล่องด้วยจะช่วยให้ได้รังนกแอ่นที่มีรูปทรงสวย ราคาดี ถ้าไม่ตีไม้ปิดมุมกล่อง มุมจะเป็น 90 องศา รังนกแอ่นจะไม่สวยราคาไม่ดี และนกแอ่นจะชอบทำรังที่มุมมาก เพราะทำรังง่าย โปรดจำไว้ว่าการที่เราทำบ้านนกแอ่นใหม่ นกแอ่นที่เราสามารถเรียกให้เข้ามาอยู่ได้จะเป็นลูกนกแอ่นที่เพิ่งโตและเพิ่งจับคู่เป็นครั้งแรกจะยังไม่เก่งในการทำรัง จะเลือกทำรังที่มุมเป็นส่วนใหญ่ ถึงแม้เราจะตีไม้ปิดมุมกล่องแล้วก็ตาม คู่นกแอ่นก็ยังจะเลือกที่มุมอยู่เหมือนเดิม ข้อเสียของการตีไม้รังแบบกล่องคือใช้ไม้มากเพิ่มงบประมาณ
นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์

Tuesday, March 18, 2008

เปิดใจเบิร์ดเบิร์ด(นกแอ่น นกแอ่น)ของผู้เขียนอีกครั้ง

มีความตั้งใจไว้ว่าจะพยายามเขียนให้ได้วันละเรื่อง แต่พอทำจริงๆกลับทำไม่ได้อย่างที่ตั้งใจ เรื่องที่จะเขียนนั้นมีมากแต่เวลาว่างของผมนั้นมีน้อยจริงๆ แต่ละเรื่องต้องเขียนร่างขึ้นมาก่อน ต้องค้นหาข้อมูล บางครั้งต้องแปลจากหนังสือภาษาอังกฤษ ต้องหารูปประกอบ และต้องพิมพ์ ตอนพิมพ์จะช้าและใช้เวลามาก ดังนั้นจึงต้องขอเปิดใจและขอความอดทนจากท่านบ้าง แต่ถ้าท่านอดใจไม่ไหวอยากจะรู้ทุกเรื่องเร็วๆ ก็โปรดอย่าเกรงใจโทรศัพท์หรือเมล์มาคุยมาถามได้ผมตั้งใจจะเขียนให้ครบทุกเรื่อง ทุกขั้นตอน ทุกขบวนการในการเลี้ยงและทำบ้านนกแอ่นให้มากและเร็วที่สุด เพราะหลังจากนั้นจะได้มีเวลาทำอย่างอื่นบ้าง ไปเยี่ยมชมบ้านนกแอ่นของท่านบ้าง หรือขึ้นบ้านนกแอ่นหลังใหม่อีกหลัง สำหรับท่านที่มีเพื่อนที่สนใจในเรื่องนี้โปรดแนะนำBlog Siteนี้ให้เพื่อนๆได้เข้ามาเยี่ยมชมมาศึกษาได้ อีกครั้งสำหรับ E-mail address ของผม : tepchai5555@gmail.com, tepchai5555@hotmail, และหมายเลขโทรศัพท์: 073-212142, 081-8965555 ยินดีต้อนรับเสมอครับ

นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์

Saturday, March 15, 2008

ทำไมผมถึงสนใจบ้านนกแอ่น?

ผมสามารถพูดได้อย่างมั่นใจเลยว่า ถ้าท่านทำบ้านนกและสามารถเรียกนกแอ่นให้เข้าอยู่ได้สำเร็จ โอกาสที่จะทำเงินล้านให้ท่านนั้นมีมากกว่าการเสี่ยงโชคในสลากกินแบ่งรัฐบาล หวยใต้ดิน หรือ การพนัน ดีกว่าไปเสี่ยงค้ายาเสพติดเป็นร้อยๆเท่า บ้านนกแอ่นเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง ธุรกิจอื่นๆเกี่ยวข้องกับขั้นตอนและผู้คนมากมาย ปัญหาจุกจิกน่าปวดหัว
เหตุผลที่บ้านนกแอ่นน่าสนใจสุดๆมีดังนี้:-
1. ใช้เงินลงทุนน้อยกว่าธุรกิจอื่น แต่ให้ผลตอบแทนมากกว่าและเร็วกว่า
2.ไม่ต้องจ้างคนงาน - ไม่มีคนงานก็ไม่ปวดหัว
3.ไม่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลา รางวัล หรือ โบนัส
4.ไม่ต้องซื้ออาหารให้นกแอ่นกิน
5.ได้ชื่อว่าเป็นผู้รักษาและขยายพันธุ์นกแอ่น - ผู้พิทักษ์โลก เท่ห์ไม่หยอก!
6.มีรายได้เสริมที่มากและมั่นคงโดยที่ไม่ต้องทิ้งงานประจำจนกว่าจะเกษียณ
7.ค่าใช้จ่ายในการดูแลบ้านนกแอ่นต่อเดือนต่ำ
8.สามารถคืนทุนใน 3 ปี
9.มีรังนกแอ่นแท้ๆให้กินฟรีตลอดชีวิต สุขภาพแข็งแรง รวยไม่รวยคิดเอาเองมีรังนกกินทุกวันครับ
นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์

ไม้ตีรังในบ้านนกแอ่น

เป็นเรื่องที่สำคัญมากในการเลือกชนิดของไม้ตีรัง จากการทดลองใช้ไม้ชนิดต่างๆทั้งในประเทศเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย พบว่านกแอ่นชื่นชอบและพอใจไม้ SWO-2 อินโดนีเซียและมาเลเซียเรียกว่าไม้ "Meranti Wood" ไทยเรียกว่าไม้ "สยาหิน" เป็นไม้แข็งกลาง ไม่มีกลิ่น มีใย น้ำลายนกแอ่นยึดเกาะได้ดี ค่อนข้างหายากในปัจจุบัน เป็นที่ต้องการของผู้ทำบ้านนกแอ่นทั้งหลาย ส่วนไม้ชนิดอื่นๆถ้าเป็นไม้แข็งกลางและไม่มีกลิ่นก็สามารถใช้ได้
ขนาดของไม้ตีรังควรเป็นไม้หนา 1 - 1.5 นิ้ว กว้าง 6 - 8 นิ้ว ขนาดความยาวของไม้ขึ้นอยู่กับขนาดอาคารของบ้านนกแอ่น ว่าจะเลือกไม้ยาว 2 เมตร 4 เมตร หรือ 6 เมตร จะได้ไม้ต้องตัดไม้ให้เหลือเศษมากนัก เซาะร่องขนาด 2 มิลฯ ลึก 2 มิลฯด้านละ 3 - 10 ร่อง ตามใจชอบ
ไม้ตีรังต้องสะอาดและแห้งสนิท ปราศจากเชื้อราและฝุ่น การตีไม้รังอาจตีเป็นแถวยาว แต่ละแถวห่างกัน 35 - 40 เซนติเมตร หรือจะตีเป็นกล่องโดยตีไม้ซอยขวางระหว่างแถวไม้ยาวก็ได้ โดยให้ไม้ซอยที่ตีห่างกัน 100 เซนติเมตร ยึดเกาะกับเพดานอย่างแข็งแรงและมั่งคง ไม่ควรให้มีร่องระหว่างไม้กับเพดาน ถ้ามีร่องเพราะไม้โค้งหรือเพดานไม่เรียบให้อุดหรือยาร่องก็ได้ การตีไม้รังให้ตีขวางกับทางเข้าของแสงหรือทางบินของนก
หากอ่านแล้วยังไม่เห็นภาพหรือนึกไม่ออกโทรศัพท์มาคุยได้นะครับ จะอธิบายให้ละเอียดยิบเลย
นำเสนอโดยเทพชัย อริยะพันธุ์

ความเสี่ยงจากไข้หวัดนกของบ้านนกแอ่น

ได้มีผลของการสำรวจและเฝ้าระวังอย่างเป็นทางการของทั้งประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียแล้วว่านกแอ่นไม่สามารถแพร่เชื้อไข้หวัดนก(Newcastle Desease, Avian Influenza or Bird Flu) ความเข้าใจที่ชัดเจนและสมบูรณ์คือ นกแอ่นกินรังขาวที่เราเลี้ยงนี้ เป็นนกที่ไม่ย้ายถิ่น(Non-Migratory) ไม่ร่วมเส้นทางบินหรือถิ่นที่ทำรังกับนกชนิดอื่นๆ และจากการที่มีขาเล็กมาก นกแอ่นกินรังขาวที่เราเลี้ยงนี้จะไม่เกาะทั้งต้นไม้และสายไฟ จะเกาะที่เดียวคือที่ที่จะทำรังและที่เดิมเสมอ เวลาของนกแอ่นส่วนใหญ่จะอยู่บนอากาศ ยกเว้นช่วงกกไข่จะใช้เวลาอยู่ที่รังมากกว่า นกแอ่นกินแมลงในอากาศไม่สามารถกินอาหารร่วมกับนกชนิดอื่นๆได้ กินน้ำจากแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สะอาดหรือน้ำฝนในอากาศ ดังนั้นโอกาสจะติดเชื้อไข้หวัดนกจากนกชนิดอื่นจึงไม่มี
เพราะฉนั้นเรื่องติดเชื้อไข้หวัดนกจึงไม่มี หมดห่วงในเรื่องนี้ได้ เล้าเป็ดเล้าไก่และสัตว์ปีกอื่นๆยังน่ากลัวกว่า
นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์

Thursday, March 13, 2008

การดัดแปลงอาคารบ้านเรือนให้เป็นบ้านนกแอ่น

หลายๆท่านฝันที่จะมีบ้านนกแอ่นเป็นของตนเองสักหลัง แต่คิดแล้วคิดอีกก็ยังไม่สำเร็จสักที มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ไม่สามารถทำให้ฝันเป็นจริงได้ การซื้อบ้านซักหลังต้องใช้เงินลงทุนมาก จะเอาบ้านที่อยู่เองให้นกอยู่แล้วตัวเองจะไปอยู่ที่ไหน หรืออยู่ด้วยกัน นกอยู่ข้างบนฉันอยู่ข้างล่าง กู้ธนาคารก็กลัวเป็นหนี้ ไม่รู้ทำแล้วจะสำเร็จหรือเปล่า กลัวๆกล้าๆอยู่นั่นแหละ เพื่อนบ้านที่อยู่ข้างเคียงจะบ่นรำคาญเสียงเรียกนกหรือเปล่า ฯลฯ คิด คิด คิด ไม่คิดดีกว่า
สำหรับท่านที่ตัดสินใจยกบ้านให้นกแอ่นอยู่ จะเป็นบ้านเดี่ยว บ้านห้องแถวหรืออาคารพาณิชย์ก็ดี ในหัวข้อนี้จะยังไม่กล่าวถึงบ้านนกแอ่นแบบอาคารเฉพาะ ตึกนกแอ่น หรือ คอนโดนกแอ่น เพราะอาคารเฉพาะง่ายต่อการออกแบบ การกำหนดรายละเอียดต่างๆ การดัดแปลงอาคารบ้านเรือนให้เป็นบ้านนกแอ่นถูกบังคังด้วยโครงสร้างเดิมของบ้าน เช่น ด้านหน้าบ้านติดถนนที่จอแจ มีรถพลุกพล่าน ด้านหลังบ้านเป็นตรอกเล็กๆมีเนื้อที่แคบๆและชนกับหลังบ้านของคนอื่น ด้านข้างทั้ง 2 ด้านก็เป็นบ้านคน ถ้าเจอปัญหาเช่นนี้ ถึงแม้บ้านที่จะดัดแปลงเป็นบ้านนกแอ่นจะอยู่ในทำเลที่ดีแล้ว ก็เป็นอุปสรรคในการดัดแปลง ทำให้การทำทางเข้า-ออกของนก Entrance Hole หรือ In - Out Hole ต้องต่อเติม ดัดแปลง ให้เข้าทางหลังคาด้านบน(ดังรูปซ้ายล่าง) ถ้าเป็นบ้านหัวมุมถนน หรือ บ้านเดี่ยวจะง่ายต่อการดัดแปลง(รูปขวาล่างและรูปบน)
การดัดแปลงอาคารบ้านเรือนเป็นบ้านนกแอ่นคือการทำให้บ้านที่ดัดแปลงมีสภาพใกล้เคียงกับสภาพภายในถ้ำที่นกแอ่นอาศัยอยู่ตามธรรมชาติมากที่สุด การดัดแปลงที่สำคัญมีดังนี้:-
1. ปิดช่องที่แสงสว่างสามารถเข้าได้ทั้งหมด เช่น ช่องหน้าต่าง ช่องลม ช่องกระจก ยกเว้นช่องที่จะกำหนดเป็นช่องทางเข้า-ออกของนก และช่องระบายอากาศชนิดที่แสงสว่างเข้าไม่ได้
2. ตีรังไม้สำหรับนกแอ่นเกาะและทำรัง โดยใช้ไม้หนา 1 นิ้ว กว้าง 6 - 8 นิ้ว ยาวตามความกว้างของอาคาร ยึดให้แข็งแรงตั้งฉากกับเพดาน เซาะร่องบนไม้ขนาดเล็กกว้าง 2 มิลฯ ลึก 2 มิลฯ 3 -4 ร่อง ห่างกันร่องละ 1 นิ้ว โดยเริ่มจากด้านล่าง ด้านที่ไม่ติดกับเพดาน รังไม้แต่ละแถวห่างกัน 30-40 เซนติเมตร
3. ติดตั้งรางน้ำขนาดพอเหมาะรอบๆห้องเพื่อปรับอุณหภูมิของห้องให้ได้หรือใกล้เคียง 28 องศาเซนเซียส หรือติดตั้งพัดลมขนาดเล็กเพื่อเป่าน้ำในรางอีกก็ได้
4. ติดตั้งเครื่องทำความชื้น Humidifier เพื่อเพิ่มความชื้นให้ได้ประมาณ 75%-85%
5. ติดตั้งเครื่องเสียงและลำโพงเพื่อทำเสียงเรียกนก ทั้งเสียงเรียกนอกและเสียงเรียกใน ควรแยกเครื่องเสียงชุดเสียงเรียกนอกและชุดเสียงเรียกในคนละชุดกัน
6. ปรับปรุงผนังอาคารด้านที่โดนความร้อนอย่าให้ความร้อนระบายเข้าสู่ภายในรัง โดยใช้ฉนวนกันความร้อนหรือวัสดุต่างๆที่เหมาะสม รวมถึงหลังคาของอาคารด้วย
7. ปรับปรุงภูมิทัศน์ภายนอกบ้านนกแอ่นให้ดูสวยงามสะอาดตา ไม่ทำลายบรรยากาศของเมืองที่สวยงาม
นี่คือส่วนที่ดัดแปลงที่ยังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดของแต่ละเรื่อง ในหัวข้อต่อๆไปจะลงรายละเอียดแต่ละเรื่องให้เห็นภาพและเข้าใจมากกว่านี้
นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์







นกแอ่นชอบสภาพแหล่งที่อยู่อย่างไร?


ในหัวข้อนี้ผมอยากที่จะให้ท่านท่องจำให้ขึ้นใจเลยว่า เมื่อใดที่ท่านตัดสินใจจะเข้าสู่การเป็นผู้เลี้ยงและทำบ้านนกแอ่น ท่านควรจะทราบว่านกแอ่นชอบสภาพแหล่งที่อยู่แบบไหน
นกแอ่นชอบสภาพแหล่งที่อยู่ดังต่อไปนี้:-
- เป็นสถานที่ที่ปราศจากมลภาวะที่เลวร้าย เช่น หมอกควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม
- ปลอดภัยจากศัตรูธรรมชาติทั้งหลาย เช่น ตุ๊กแก แมลงสาป หนู เหยี่ยว นกเค้าแมว งู
- ใกล้แหล่งอาหารที่เพียงพอและไม่จำกัด เช่น ใกล้ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ ใกล้แหล่งพืชสวนพืชไร่ มีลุ่มน้ำ แม่น้ำ หรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่
- บริเวณใกล้ชายฝั่งที่มีอุณหภูมิล้อมรอบคงที่
- อุณหภูมิประมาณ 28 - 30 องศาเซนเซียส
- ค่าความสว่างของแสง 2 -3 ลักซ์
- ค่าความชื้นประมาณ 75 % - 85 %
- ระดับความสูงจากน้ำทะเลไม่เกิน 2,800 เมตร
หากท่านสามารถเลือกทำเลหรือสภาพแหล่งที่อยู่ได้ดังที่กล่าวถึงนี้ โอกาสในความสำเร็จของบ้านนกแอ่นย่อมสูงมาก
นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์

Tuesday, March 11, 2008

ทำอย่างไรจึงสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการทำบ้านนกแอ่น?

ในภาษาอังกฤษมักเรียกบ้านนกแอ่นว่า "Swiftlet Farming" หรือ "Swiftlet House" แต่ใน Blog Site แห่งนี้จะเรียกว่า "บ้านนกแอ่น" เพื่อให้เข้าใจว่า คือการทำบ้านนกแอ่นเพื่อเลี้ยงนกแอ่นนั่นเอง
การที่ท่านจะทำบ้านนกแอ่นโดยที่ท่านไม่มีความรู้เลยนั้นเป็นเรื่องยาก มองภาพไม่ออก นึกไม่ออกว่าสภาพภายในบ้านนกแอ่นเป็นอย่างไร มืดๆ ชื้นๆ เย็นๆ ฯลฯ ดังนั้นท่านจึงควรที่จะศึกษา หรือเรียนรู้เกี่ยวกับการทำบ้านนกแอ่นว่ามีข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือ วิชาการอะไรบ้าง
การที่จะเรียนรู้หรือหาความรู้เกี่ยวกับการทำบ้านนกแอ่น เท่าที่พอจะแนะนำได้มีดังนี้:-
1. โดยการสืบค้นจาก Internet เพียงท่านมีคอมพิวเตอร์ที่ต่ออินเตอร์เน็ตได้ ท่านก็สามารถค้นหาข้อมูลได้ แต่อาจจะมีข้อมูลเพียงบางส่วน ไม่มาก ไม่ละเอียดนัก เพราะข้อมูลเรื่องการเลี้ยงและการทำบ้านนกแอ่นยังเป็นข้อมูลลับ ที่ผู้รู้ทั้งหลายยังไม่อยากเปิดเผย เขาสามารถหารายได้จากการเป็นที่ปรึกษา(Consultant)ได้
2. ซื้อหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงและทำบ้านนกแอ่นมาอ่าน จริงๆแล้วหนังสือก็มีไม่กี่เล่ม ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือภาษาอินโดนีเซีย ภาษามาเลย์ ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย แต่ค่อนข้างจะหาซื้อยาก ต้องเสาะหากันจริงๆถึงจะได้มาสักเล่ม ในประเทศมาเลเซียมีหนังสือภาษาอังกฤษหลายเล่มที่เขียนได้ดีมาก ลองค้นหาดู ถ้าไม่เจอโทรศัพท์มาถามได้
3. จ้างผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำบ้านนกแอ่น จะโดยซื้อข้อมูลความรู้หรือว่าจ้างมาทำบ้านนกแอ่นให้เลยก็ได้ คล้ายๆกับการเข้าอบรม แต่จะได้มากกว่า ละเอียดกว่า วิธีนี้ง่ายที่สุด แต่แพงที่สุด
4. ระบบการแลกเปลี่ยนความรู้ ทุกๆคนต่างมีอาชีพหลักเป็นของตนเองและย่อมมีความสามารถในอาชีพนั้นๆ สามารถที่จะแลกเปลี่ยนความรู้แก่กันได้ ดังนั้นการคบเพื่อนที่มีความรู้เรื่องการเลี้ยงหรือทำบ้านนกแอ่น ท่านก็อาจได้ข้อมูลฟรีๆโดยไม่ต้องเสียเงิน(ข้อนี้น่าสนใจมากๆ)
5. เข้าร่วมอบรม สัมมนาหรือทำ Workshops ในเมืองไทยมีน้อยมาก ค่าอบรมแพงและได้ความรู้น้อย วิทยากรอยากแนะนำตัวเองมากกว่า อยากได้ค่าปรึกษาหรือค่าจ้างในการทำบ้านนกแอ่นมากกว่า เพราะเป็นอาชีพของเขา
6. เข้า Blog/Website นี้ อดทนและติดตามต่อๆไปรับรองได้ความรู้มากแถมฟรีอีกด้วย
นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์

ความจริงที่ตรึงตราตรึงใจเกี่ยวกับนกแอ่น

นกแอ่นมีข้อเท็จจริงที่ตรึงตราตรึงใจหลายๆอย่าง นอกจากจะถูกยกย่องให้เป็น "The Caviar of the East" คาเวียร์แห่งตะวันออกแล้ว ยังมีข้อเท็จจริงอีกดังนี้:-
- นกแอ่นสามารถพบเห็นได้ทุกจังหวัดในภาคใต้ของไทย
- นกแอ่นสามารถบินครอบคลุมพื้นที่ 50 กิโลเมตรได้อย่างง่ายดาย
- นกแอ่นมีความจำที่ยอดเยี่ยม สามารถบินกลับสู่รังของตัวเองในที่มืดได้อย่างแม่นยำ ทั้งที่มีรังนกแอ่นอื่นๆอีกเป็นพันๆรัง
- นกแอ่นออกจากรังหรือที่เกาะเพื่อออกหาอาหารเวลาประมาณ 5.30 น.- 6.30 น. และกลับสู่รังหรือที่เกาะประมาณ 18.15 น. - 19.15 น.
- นกแอ่นบางตัวจะกลับรังประมาณ 12.00 น. เพื่อให้อาหารลูกอ่อน ขณะที่นกแอ่นบางส่วนกกไข่
- นกแอ่นจับคู่กันตลอดกาล เป็นที่รู้จักกันดีถึงความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อคู่รัก
- นกแอ่นผสมพันธุ์ 3 ครั้ง/ปี ให้ไข่ 2 ฟอง/ครั้ง เท่ากับให้ลูก 6 ตัว/ปี เท่ากับเพิ่มปริมาณนกแอ่น 3 เท่า/ปี
- นกแอ่นทั้งตัวผู้และตัวเมียต่างช่วยกันทำรังจากน้ำลาย โดยใช้ช่วงเวลากลางคืนทำรัง
- นกแอ่นทั้งตัวผู้และตัวเมียต่างช่วยกันกกไข่ โดยสลับหน้าที่กัน
- นกแอ่นมีศัตรูที่สำคัญ ได้แก่ งู ค้างคาว เหยี่ยว หนู ตุ๊กแก แมลงสาป
ยังมีข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกมาก แต่อยากให้ท่านได้ค้นหาเองบ้างเพื่อความเร้าใจ
นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์

Monday, March 10, 2008

การทำบ้านนกแอ่นเริ่มต้นอย่างไรดี

ตั้งแต่ข่าวเรื่องบ้านนกแอ่นหรือคอนโดนกแอ่นเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลาย มีผู้คนกล่าวถึงรายได้ที่ได้จากจากการเก็บรังนกขายว่ามากมายมหาศาล สามารถคืนทุนในระยะเวลาอันสั้น น่าลงทุนกว่าธุรกิจอื่นๆ จะมีใครกล่าวถึงอีกด้านบ้างว่ายังมีบ้านนกแอ่นอีกหลายๆ หลังที่ไม่ประสบความสำเร็จจนต้องเป็นหนี้ หมดความอดทน จนต้องประกาศขาย ดังนั้นจึงมีปัจจัยหลายๆอย่างที่ต้องพิจารณาก่อนที่จะเริ่มต้นทำบ้านนกแอ่น
การทำบ้านนกแอ่นที่สำเร็จจะเริ่มต้นอย่างไรดี
ข้อ 1. การเลือกทำเล สถานที่ และ สภาพแวดล้อม ควรเลือกทำเลที่มีนกแอ่นปรากฎให้เห็นเป็นจำนวนมาก มีแหล่งแมลงสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำ ลุ่มน้ำ หรือ แม่น้ำ มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่เพราะปลูก มีมลภาวะที่ดี
ข้อ 2. เลือกทำเลที่อยู่ใกล้บ้านนกแอ่นที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง
ข้อ 3. ทดลองใช้เสียงเรียกนกแอ่น Swiftlet Chirp เพื่อตรวจสอบปริมาณนกแอ่น โดยทำการทดสอบหลายๆครั้ง ต่างวัน ต่างระยะเวลา เช้า เที่ยง บ่าย เพื่อเพิ่มความมั่นใจ
นี่คือการเริ่มต้นขั้นแรกที่ดีก่อนการตัดสินใจลงทุนทำบ้านนกแอ่น ส่วนขั้นตอนต่อๆไป หลังจากมั่นใจแล้วว่าทำเลและสถานที่ที่เลือกนั้นเหมาะสมแล้ว ก็อยู่ที่การตัดสินใจว่าจะสร้างบ้านนกแอ่นขึ้นมาโดยออกแบบอย่างดีตามหลักบ้านนกแอ่นที่ดีหรือดัดแปลงอาคารบ้านเรือนที่มีอยู่แล้วให้เป็นบ้านนกแอ่น การดัดแปลงก็สามารถทำให้ถูกหลักได้เช่นกัน ถ้ารู้จักและเข้าใจธรรมชาติของนกแอ่น
สนใจเสียงเรียกนกแอ่น Swiftlet Chirp โปรดติดต่อ เทพชัย อริยะพันธุ์
นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์

ราคารังนกแอ่น

ราคาตลาดของรังนกแอ่นขาวเปรียบเทียบกับราคาของทองแดง เงิน และ ทองคำ ในปี 2006 ราคาของรังนกแอ่นขาวที่ยังไม่ผ่านการทำความสะอาดขายกันอยู่ที่ประมาณ 43,000-65,000 บาท/ 1 กิโลกรัม ส่วนรังนกแอ่นขาวที่ผ่านขบวนการทำความสะอาดและลงบรรจุภัณฑ์เรียบร้อยสวยงามพร้อมส่งออกสู่ตลาดฮ่องกง จีน และ ตลาดอื่นๆ จะอยู่ประมาณ 215,000-250,000 บาท/ 1 กิโลกรัม
ในปี 2006 เช่นกัน ราคาของทองแดงในตลาดอยู่ที่ประมาณ 70-110.50 บาท/ 1 กิโลกรัม ราคาของเงินอยู่ที่ประมาณ 13,000-15,500 บาท/ 1 กิโลกรัม และ ราคาของทองคำอยู่ที่ประมาณ 675,000-794,000 บาท/ 1 กิโลกรัม
จากการเปรียบเทียบราคาจะเห็นว่าแม้รังนกแอ่นขาวที่ยังไม่ผ่านขบวนการทำความสะอาดและลงบรรจุภัณฑ์ยังมีราคาสูงกว่าโลหะสำคัญๆ ของโลก ยกเว้นทองคำ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการเปรียบเทียบว่า รังนกแอ่นขาว คือ "ทองคำขาว" นั่นเอง

นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์

Sunday, March 9, 2008

โชคดีประเทศไทย

ยังไม่เป็นที่เข้าใจหรือทราบกันดีว่านกแอ่นกินรังนั้นมีพื้นที่สำหรับเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ในพื้นที่ของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia) เท่านั้น นับว่าเป็นโชคดีของประเทศไทยที่มีพื้นที่อยู่ในเขตนี้ เป็นผลทำให้จังหวัดที่อยู่ริมฝั่งทะเลทั้งด้านอ่าวไทยและด้านอันดามันมีนกแอ่นกินรังอาศัยเป็นจำนวนมาก นอกจากจะอาศัยอยู่ตามเกาะต่างๆแล้ว ยังมีบางส่วนมาอาศัยตามบ้าน
เรือนที่ทิ้งร้างและตามวัดบางแห่ง จนทำให้เจ้าของบ้านสามารถเก็บรังนกขายจนร่ำรวย ทำให้ผู้คนเชื่อว่าเจ้าของบ้านเหล่านั้นเป็นผู้มีโชควาสนาที่ทำบุญมาแต่ชาติที่แล้ว และเชื่อกันต่อๆมา จนเมื่อไม่นานมานี้ได้มีการทำบ้านนกแอ่นโดยใช้เทคนิคและวิชาการมาช่วย ใช้ทั้งเสียงเรียกนก เครื่องทำความชื้น การตีรังไม้เพื่อให้นกแอ่นเกาะและทำรัง ฯลฯ
ปัจจุบันการทำบ้านนกแอ่นป็นที่รู้จักมากขึ้น อาศัยการแนะนำและบอกต่อๆกัน ยังไม่มีสถาบันหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลหรือศึกษาอย่างจริงจัง จึงมีบ้านนกแอ่นหลายๆหลังที่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ สำรวจอย่างไม่เป็นทางการมีบ้านนกแอ่นในประเทศไทยประมาณ 70,000 หลัง ยังไม่อยากสำรวจตัวเลขรายได้ เพราะถ้าคิดตัวเลขออกมาจริงๆแล้วขอบอกว่า "โชคดีประเทศไทย"
ยังมีโอกาสและความหวังสำหรับทุกๆท่านที่สนใจ Blog Site แห่งนี้จะนำเสนอความรู้ในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

นำเสนอโดย เทพชัย อริยะพันธุ์

Saturday, March 8, 2008

รู้จักนกแอ่น


ก่อนอื่นเรามารู้จักนกแอ่นกันเสียก่อนน่าจะเป็นการดีที่สุด เดิมเรียกกันอย่างกว้างขวางว่านกอีแอ่น ซึ่งรวมเอานกสองกลุ่มที่แตกต่างกันอย่างมากเข้าไว้ด้วยกัน ก็คือ swift และ swiftlet กับนกอีแอ่นประเภท swallow และ martin ที่มีรูปลักษณ์ภายนอกและท่าทางในการบินคล้ายกัน ข้อแตกต่างที่สำคัญบางประการ เช่น นกประเภทแรกมีตีนที่กำไม่ได้ จึงไม่อาจเกาะกิ่งไม้หรือสายไฟได้ดังนกประเภทหลัง มันจะใช้ตีนเกี่ยวไว้ได้เท่านั้น และนกประเภทแรกยังมีปีกรูปทรงยาวเรียว ดูคล้ายกับเคียวเกี่ยวข้าว ต่อมาคนไทยในยุคสมัยหนึ่งเกิดความรังเกียจคำว่า "อี" ขึ้นมา โดยหาว่าเป็นคำไม่สุภาพ ทำให้สัตว์นานาชนิดที่คำว่า "อี" นำหน้าต้องถูกถอดออกหรือเปลี่ยนเป็น "นาง" ที่ฟังดูสุภาพกว่า ด้วยเหตุดังกล่าว จึงได้กลายเป็นนกแอ่น (swift และ swiftlet) กับนกนางแอ่น (swallow และ martin) ในปัจจุบัน

นกนางแอ่นกินรังเดิมจัดอยู่ในสกุล Collocalia และต่อมาเปลี่ยนเป็นสกุล Aerodramus เนื่องจากมีความสามารถในการเปล่งคลื่นเสียงออกมาใช้ในการบินในถ้ำได้ มีอยู่ด้วยกัน 26 ชนิด มีการกระจายตั้งแต่เกาะในด้านทิศตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย ทั่วทั้งบริเวณตอนใต้ของทวีปเอเซียถึงประเทศฟิลิปปินส์ กลุ่มเกาะอินโด-ออสเตรเลีย จนถึงประเทศออสเตรเลียตอนเหนือและหมู่เกาะแปซิฟิกตะวันตกและหมู่เกาะแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ ขนาดลำตัวยาวประมาณ 7.5-13 เซนติเมตร มีปีกยาว 110-118 มิลลิเมตร น้ำหนักตัว 8-9.5 กรัม ขนลำตัวมักมีสีน้ำตาลคล้ำด้านๆ จนถึงสีดำเป็นมัน ปีกยาวปลายแหลม เหมาะแก่การหากินในอากาศ หางสั้นปลายตัดหรือแยกเป็นสองแฉก ออกหากินตามปรกติในเวลากลางวัน มีสายตาที่เฉียบคมแลเห็นได้ดีในช่วงเวลาแสงสลัวๆ นกนางแอ่นกินรังอินเดียมีรายงานว่าหากินในเวลากลางคืน โดยอาศัยแสงไฟฟ้าตามบ้านเรือนและตามถนน ก่อนรุ่งสางฝูงนกจะเริ่มรวมกลุ่มบินวนเวียนอยู่บริเวณปากถ้ำ ก่อนบินเรียงตามกันเป็นทิวยาวออกหากินตลอดทั้งวัน ทั่วไปเป็นบริเวณกว้างขวาง มักหากินอยู่ตามลำพังตัวเดียว ตอนเช้าจะบินหากินไปเหนือระดับยอดไม้ของป่าดงดิบ ยามเที่ยงถึงบ่ายที่แสงอาทิตย์แรงกล้าขึ้นทุกทีๆ มันจะอาศัยมวลอากาศร้อนที่เกิดขึ้นบินวนสูงหายลับไปจากสายตา พอถึงตอนบ่ายอ่อนๆ นกจะบินกลับลงมาจากอากาศเบื้องบนมุ่งไปยังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ อาจจะเป็น แม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ หรือแอ่งน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งมันจะบินเลียดต่ำลงเฉี่ยวกินน้ำหรืออาบน้ำด้วยท่วงท่าบินร่อนที่สวยงาม ปีกทั้งสองชูขึ้นเหนือแผ่นหลังพร้อมบิดหัวลงต่ำแล้วอ้าปากกว้าง ให้หยดน้ำเข้าสู่ปาก หลังจากนั้นจะมาบินรวมฝูงกันบริเวณปากถ้ำตอนพลบค่ำ ก่อนที่จะบินกลับเข้าถ้ำด้วยอาหารเต็มกระเพราะ มุ่งผ่านความมืดมิดเข้าสู่บริเวณรังหรือจุดเกาะพักนอนเพื่อพักผ่อนยามราตรีก่อนจะเริ่มออกหากินอีกครั้งในตอนย่ำรุ่งของวันต่อไป

อาหารหลักของนกแอ่นกินรัง ได้แก่ พวกมดมีปีกและแมลงเม่า คิดเป็น 99% ของปริมาณอาหารทั้งหมด นอกนั้นเป็นพวกแมลงขนาดเล็กๆ เช่น แตนเปียนฝอย แตนไทร เพลี้ย และแมลงวัน มันจะปั้นอาหารในกระเพราะเป็นก้อนกลมๆ แต่ละก้อนมีน้ำหนักโดยเฉลี่ย 0.57 กรัม มีแมลงอยู่โดยเฉลี่ยราว 500 ตัว โดยทั่วไปมีจำนวนแมลงตั้งแต่ 100 ตัว - มากกว่า 1,200 ตัว ได้มีการคาดคะเนไว้ว่านกแอ่นกินรัง จำนวนประมาณ 4,500,000 ตัว ในถ้ำแห่งหนึ่งในเกาะบอร์เนียว กินแมลงได้วันหนึ่งๆ ประมาณ 5,000 กิโลกรัม ประกอบตัวแมลงประมาณ 100,000,000 ตัว ด้วยปริมาณแมลงจำนวนมหาศาลเช่นนี้ทำให้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรอบมากทีเดียว

นกแอ่นกินรังทำรังอยู่ร่วมกันในถ้ำเป็นกลุ่มใหญ่ ทั้งในถ้ำริมทะเลและถ้ำตามเทือกเขาหินปูน บางครั้งที่ตั้งของรังอยู่ลึกจากปากถ้ำมากกว่า 400 เมตร นอกจากนี้ ยังทำรังในอาคารบ้านเรือนบางหลัง และในวัดอีกด้วย รังนกจะทำบนผนังถ้ำที่เอนเข้าด้านใน ส่วนใหญ่รังนกติดอยู่กับผนังผิวเรียบที่มีลักษณะเว้าและมีแนวสันเล็กๆ พาดผ่านหลายสัน การทำรังวางไข่ของนกแอ่นกินรัง มีกิจกรรมการวางไข่ สูงสุดเป็นสองระยะ ระยะแรกในเดือนตุลาคม-ธันวาคม ระยะที่สองในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน แตกต่างกันไปในระหว่างนกแอ่นกินรังในด้านทะเลอันดามัน กับนกแอ่นกินรังในด้านอ่าวไทย ขึ้นอยู่กับการการเริ่มต้นของฤดูมรสุม การสร้างรังใช้เวลานานหนึ่งเดือน เริ่มกกไข่ตั้งแต่วางไข่ฟองแรก วางไข่เพียง 2 ฟอง แต่ละฟองทิ้งระยะเวลาห่างกันประมาณ 3 วัน ระยะฟักไข่นาน 20-26 วัน ระยะเติบโตในรังนาน 37-49 วัน

นกที่ทำรังในถ้ำที่มืดสนิท เวลาบินมีการส่งเสียงดังคลิ๊กๆ เป็นระยะ เป็นระบบใช้คลื่นเสียงสะท้อนเหมือนกับพวกค้างคาวใช้ในการจับเหยื่อ แต่นกแอ่นกินรังใช้คลื่นเสียงสะท้อนเพื่อหลบหลีกอุปสรรคในถ้ำ โดยเปล่งเสียงออกไปและรับเสียงสะท้อนกลับมาสู่หูเพื่อวิเคราะห์เส้นทางที่จะบินผ่าน นอกจากนี้ยังทำให้นกบินออก และกลับสู่ถ้ำได้ในเวลาค่ำ จึงมีเวลาบินออกไปหากินไกลจากถ้ำได้มากกว่านกชนิดอื่นที่ต้องกลับที่พักนอนในช่วงเวลาที่มีแสงสว่างเท่านั้น

คลื่นเสียงนี้แตกต่างจากคลื่นเสียงของค้างคาวที่มีความถี่สูงเกินที่มนุษย์จะได้ยินได้ คลื่นเสียงของนกแอ่นกินรังช่วงคลื่นที่ได้ยินได้ดังเป็นเสียงคลิ๊กๆ ถี่เป็นชุดๆ มีความถี่ตั้งแต่ 1-2 กิโลเฮิรตซ์ ถึง 7-16 กิโลเฮิรตซ์ เวลาบินในถ้ำนกจะส่งเสียงต่อเนื่องกันไปในอัตรา 3-20 คลิ๊กต่อวินาที อัตราจะถี่สูงขึ้นตอนจะลงเกาะ หรือมีสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้า เชื่อว่านกทำเสียงโดยใช้ลิ้นเหมือนพวกค้างคาวบัว(Rousettus spp.) หรือทำเสียงดังโดยใช้บางส่วนของหลอดเสียงก็เป็นได้ แต่จะทำได้ในขณะที่นกอ้าปากเท่านั้น

รังนกที่ใช้ปรุงเป็นอาหารหรือยาบำรุงร่างกายทำด้วยน้ำลาย ซึ่งเป็นสารเมือกเหนียวสร้างมาจากต่อมใต้ลิ้นคู่หนึ่ง ไม่ทำหน้าที่ในการย่อยอาหาร ต่อมคู่นี้มีขนาดพองตัวขึ้นอย่างมากในฤดูทำรัง เมื่อแห้งแล้วสารนี้ละลายได้ยากในน้ำหรือแม้แต่ในกรดหรือด่างอ่อนๆ เป็นการปรับตัวให้สามารถในการทำรังเชื่อมติดอยู่กับผนังถ้ำในสภาพชื้นโดยตลอดของถ้ำได้ดี เป็นสารประเภท mucoprotein มีองค์ประกอบดังนี้ น้ำ 9% โปรตีน 32.3% คาร์โบไฮเดรด 38.7% และพวกเถ้าอนินทรีย์ 20% ในกลุ่มของโปรตีนยังมีกรดอะมิโนจำนวน 17 ชนิด ในปริมาณต่างๆกัน อีกทั้งยังมีแร่ธาตุ เช่น กำมะถัน และฟอสฟอรัส อีกในปริมาณเล็กน้อย

ในปัจจุบันรังนกจัดเป็นสินค้าที่มีราคาสูงมากอย่างไม่น่าเชื่อ รังนกชั้นหนึ่งเกรด เอ มีราคากิโลกรัมละประมาณ 60,000 บาท แต่การจัดเก็บรังนกมีการให้สัมปทานแก่เอกชนเป็นรายๆในแต่ละพื้นที่ อันเป็นการที่รัฐอนุญาตให้เอกชนจัดทำผลประโยชน์เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ภายในระยะเวลาและตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด ได้แก่ บริเวณเกาะในเขตจังหวัดตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล ตรัง ภูเก็ต และ พังงา นอกจากนี้ยังมีปลูกอาคารสูงตามชายทะเลเพื่อล่อให้นกแอ่นกินรังเข้ามาทำรังวางไข่ในหลายบริเวณ โดยเฉพาะในเขต อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช จนเกิดคดีฟ้องร้องกับผู้ที่ได้รับสัมปทานในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงว่าเป็นการละเมิดสัมปทานหลายรายแล้ว เรื่องนี้นับว่ายากต่อการตัดสินเพราะพิสูจน์ความจริงได้ไม่ง่ายเลย

บทความนี้เป็นของ ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ นำมาเสนอเป็นความรู้แก่ผู้สนใจโดย เทพชัย อริยะพันธุ์

Friday, March 7, 2008

แนะนำตัว


ผมชื่อเทพชัย อริยะพันธุ์ ประกอบธุรกิจโรงแรม

การศึกษา ปริญญาตรี การจัดการทั่วไป (ราชภัฏยะลา)

ปริญญาโท พัฒนาสังคม (นิด้า)

ทำธุรกิจมาหลายอย่าง ประสบความสำเร็จและล้มเหลวพอๆกัน มาชื่นชอบการเลี้ยงและทำบ้านนกแอ่นและอยากจะแบ่งความตื่นเต้นและเร้าใจของการลงทุนทำบ้านนกแอ่นซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ มากกว่า ๙๐% ยังไม่ตื่นตัวมากนัก

ได้ทดลองทำบ้านนกโดยเข้าอบรม ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เข้าเว็บ ซื้อหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษมาอ่าน ได้เรียนรู้วิธีการต่างๆหลายอย่าง สนุก ตื่นเต้นและเร้าใจ จนอดที่จะแบ่งบันให้ผู้สนใจและคนอื่นๆได้รู้บ้าง

จะนำเสนอบทความไปเรื่อยๆจนกว่าจะครบและครอบคลุมทุกๆเรื่องเกี่ยวกับการเลี้ยงและทำบ้านนกแอ่นตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงขั้นสำเร็จสูงสุด

e-mail address: tepchai5555@hotmail.com



โทรศัพท์: 073-212142, 081-8965555

ที่อยู่: 20 ถนนไชยจรัส ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา 95000

เทพชัย อริยะพันธุ์

กลุ่มผู้รักนกแอ่นยะลาและทุกจังหวัด

เรียน ผู้สนใจการเลี้ยงและทำบ้านนกแอ่นกินรังขาวทุกท่าน
ผมได้เปิดblog/websiteเพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ วิชาการเกี่ยวกับการเลี้ยงและทำบ้านนกแอ่นกินรังขาวเป็นภาษาไทย เพื่อช่วยเหลือผู้สนใจการเลี้ยงและทำบ้านนกแอ่น ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปสู่การสร้างบ้านนกแอ่นที่สำเร็จและทำรายได้อย่างงดงาม
เทพชัย อริยะพันธุ์

แนะนำแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดยะลา

แนะนำแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดยะลา
ยะลา หรือ ยะลอ แปลว่า "แห" เดิมเป็นหนึ่งในเจ็ดหัวเมืองตอนใต้ ขึ้นอยู่กับมณฑลปัตตานี ต่อมาได้ประกาศเป็นจังหวัด ตามระเบียบบริหารการปกครองใหม่เมื่อปี 2476 ปัจจุบันจังหวัดยะลามีพื้นที่ 4,521.077 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็น 8 อำเภอ 58 ตำบล 376 หมู่บ้าน มีอำเภอเมือง อำเภอรามัน อำเภอยะหา อำเภอบันนังสตา อำเภอเบตง อำเภอธารโต อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลาตั้งอยู่ตอนใต้สุดของประเทศไทย ดั่งคำขวัญที่ว่า "ยะลา : ใต้สุดสยามเมืองงามชายแดน" อยู่ห่างจากกรุงเทพฯโดยทางรถไฟประมาณ 1,039 กิโลเมตร หรือโดยทางรถยนต์ตามถนนเพชรเกษมประมาณ 1,440 กิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีผังเมืองสวยงามแห่งหนึ่งของประเทศไทย

หลักเมืองยะลา

หลักเมืองยะลา
หลักเมืองยะลาสร้างขึ้นจากแนวความคิดของ พ.ต.อ.ศิริ คชหิรัญ ครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาร่วมกับบรรดาข้าราชการซึ่งมีความเห็นตรงกันว่าเดิมจังหวัดยะลาเป็นอาณาเขตหนึ่งในบริเวณ 7 หัวเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดปัตตานี เพิ่งแยกออกเป็นเมืองหนึ่งต่างหากในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (ในสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ. 2335) ที่ตั้งตัวเมืองยะลาเดิมมิได้อยู่ในที่ปัจจุบัน แต่ได้โยกย้ายมาแล้วถึง 4 ครั้งด้วยกัน ด้วยเหตุดังกล่าวท่านจึงให้ข้าราชการและประชาชนชาวจังหวัดยะลาได้พร้อมใจกันสร้างหลักเมืองขึ้นที่บริเวณศูนย์วงเวียนหน้าศาลากลางจังหวัดโดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504 เวลา 10.30 น. ปัจจุบันหลักเมืองยะลาเป็นศูนย์กลางของเมืองยะลา ทั้งนี้เนื่องจากผังเมืองยะลาได้ออกแบบไว้เหมาะเจาะกันพอดีรอบๆวงเวียนหลักเมือง อันเป็นวงเวียนชั้นในสุดเป็นที่ทำการของส่วนราชการต่างๆ ได้แก่ ศาลากลางจังหวัด ศาลจังหวัด กองกำกับการตำรวจภูธร สำนักงานที่ดิน สำนักงานเกษตร สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และที่ว่าการอำเภอเมืองยะลา บรรดาถนนทุกสายที่มาจากอำเภอต่างๆของจังหวัดจะมารวมกันที่หลักเมือง

วัดคูหาภิมุข

วัดคูหาภิมุข
ถ้ำคูหาภิมุขตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง ไปตามเส้นทางยะลา-หาดใหญ่ ประมาณ 7 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายเข้าวัดอีก 1 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุที่สำคัญคือ พระพุทธไสยาสน์ สร้างสมัยศรีวิชัยประมาณ 1,300 ปีเศษ ภายในมีถ้ำต่างๆเช่น ถ้ำมืด ถ้ำ ภปร. มีหินงอกหินย้อย และหยดน้ำไหลรินจากโขดหินสวยงามยิ่งนัก หยดเกร็ดเพชรระยิบระยับตา ซึ่งในปี 2539 ถ้ำคูหาภิมุขได้รับรางวัลการประกวดแหล่งท่องเที่ยวประเภทธรรมชาติของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

พระมหากัจจายนะ

พระมหากัจจายนะ
พระมหากัจจายนะ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2505 ประดิษฐานอยู่ภายในวัดเมืองยะลา อยู่กลางแจ้งภายในวัด องค์ใหญ่สวยงาม หากหมั่นทำความดีเมื่อมาขอพรจากท่านมักจะประสบความสำเร็จ อยู่ห่างจากศาลากลางไปทางถนนสุขยางค์ทางออกมุ่งสู่อำเภอเบตงประมาณ 1 กิโลเมตร อยู่ด้านขวามือตรงข้ามกับโรงเรียนตำรวจภูธร 9 (กองบัญชาการส่วนหน้า)

วัดพุทธาธิวาส

วัดพุทธาธิวาส
พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ ตั้งอยู่ ณ วัดพุทธาธิวาส ถนนรัตนกิจ ในตัวเมืองเบตง โดยตัวเจดีย์ตั้งอยู่บนเนินเขามีขนาดความกว้าง 39 เมตร สูง 39.9 เมตร หรือขนาดความสูงเทียบเท่าตึก 13 ชั้น เป็นมหาธาตุเจดีย์ที่สวยงามและขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ เป็นศิลปกรรมแบบศรีวิชัยประยุกต์ มหาเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นจากความคิดและการดำเนินการของอดีตประธานศาลฏีกา นายสวัสดิ์ โชติพานิช เพื่อเฉลิมฉลองและถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา

เขื่อนบางลาง

เขื่อนบางลาง
เขื่อนบางลางในระหว่างการเดินทางด้วยรถยนต์จากตัวเมืองยะลาสู่อำเภอเบตง บนเส้นทางหลวงสายยะลา-เบตง สามารถแวะชมทัศนียภาพอันสวยงามของเขื่อนบางลางได้ที่บ้านบางลาง ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา ซึ่งห่างจากตัวเมืองยะลา 58 กิโลเมตร และเข้าไปในตัวเขื่อนอีกประมาณ 12.5 กิโลเมตร ตัวเขื่อนบางลางสร้างปิดกั้นแม่น้ำปัตตานี ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ที่ทิวเขาสันกาลาคีรี สันปันน้ำระหว่างไทยกับมาเลเซียในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ด้วยฝีไม้ลายมือมนุษย์ทำให้พื้นที่บริเวณเหนือเขื่อน กลายสภาพเป็นทะเลสาปน้ำจืดกลางหุบเขาขนาดใหญ่ซึ่งล้อมรอบไปด้วยความเขียวขจีจากพันธุ์พืชพันธุ์ไม้นานาชนิดและภูเขาน้อยใหญ่ที่ทอดตัวเรียงรายสลับซับซ้อนโอบล้อมอยู่ ทิวทัศน์ที่สวยงามเช่นนี้ มีอาคารบ้านพักตากอากาศ ห้องจัดประชุม ร้านอาหาร สนามเทนนิส สนามเปตอง สนามกอล์ฟ สนามฟุตบอล แพล่องชมทัศนียภาพ ไว้บริการให้ความสะดวกแก่ผู้มาเยือน จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นทางเลือกในการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจอีกแห่งหนึ่ง นอกจากจะเหมาะต่อการท่องเที่ยวแล้วเขื่อนบางลางยังคงคุณสมบัติของเขื่อนเอนกประสงค์ตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแห่งแรกในภาคใต้ไว้ได้เช่นเดิมคือ ช่วยในการป้องกันอุทกภัย การชลประทาน การผลิตกระแสไฟฟ้าและการประมง (สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม,ติดต่อบ้านพักโทรฯ 0-7329-9237-8, 0-7329-7099 ล่องเรือหรือแพชมทิวทัศน์ทะเลสาปเหนือเขื่อน โทรฯ 0-7328-1063-66 ต่อ 2291)

วิถีชีวิตของชาวบ้านรอบๆเมืองยะลา

วิถีชีวิตของชาวบ้านรอบๆเมืองยะลา
ยะลาเป็นเมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีธรรมชาติที่สวยงามอุดมสมบูรณ์ ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดำเนินตามรอยพระบาทชีวิตความเป็นอยู่แบบพอเพียง มีอาหารการกินที่หลากหลายทั้ง ไทย จีน มุสลิม ผู้คนรักใคร่กลมเกลียว เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความวุ่นวายทั้งหลายที่เกิดเป็นเพียงภาพลวงตา อีกไม่นานก็จะหายไป เพราะเขาเองก็เบื่อเต็มทนแล้วเพราะตั้งแต่วันแรกที่หลงผิดชีวิตยังหาความสุขไม่ได้ จะขอกลับมาเป็นคนดีของสังคมเร็วๆนี้

อานิสงส์และบุญกุศลใดๆ

อานิสงส์ใดๆที่เกิดขึ้นจากการได้มีโอกาสเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ ข่าวสารและวิชาการเกี่ยวกับการเลี้ยงและทำบ้านนกแอ่น ขอมอบแด่ คุณพ่อสุนันท์-คุณแม่อำนวย อริยะพันธุ์ พี่กัญญา ศรีสวัสดิ์และครอบครัว พี่ดวงพร เพชรโชติและครอบครัว น้องนิชา สุตะเมืองและครอบครัว คุณอ้อย(ภรรยา) น้องหนึ่ง(ลูกชาย) น้องฟรังก์(ลูกสาว) น้องดิว(ลูกสะใภ้) น้องพีร์(หลานชาย) ตลอดจนคณาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประศาสตร์วิชาความรู้ให้แก่ศิษย์โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ขอบุญกุศลแห่งวิทยาทานทั้งหมดที่ข้าพเจ้าได้กระทำจงมีแด่ทุกท่านที่ข้าพเจ้าได้เคยรู้จักและเกี่ยวข้อง ให้ประสพแต่ความสุข ความเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฎิภานธนสารสมบัติทุกประการเทอญ เทพชัย อริยะพันธุ์